ไทยดัน SOFT POWER ด้าน FASHION & CRAFT อัพมูลค่าทางเศรษฐกิจสู่สากล

ททท. ชูเสน่ห์ไทย ดัน Soft Power ด้าน Fashion & Craft จัดแสดงผลงาน Thai Craft Destination ต่อยอดต้นทุนทางวัฒนธรรม เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจใน 6 จังหวัดสู่ระดับสากล

วันที่ 16 กันยายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยฝ่ายสินค้าการท่องเที่ยว แถลงข่าวกิจกรรมแสดงผลงาน “Thai Craft Destination” ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวผ่านการพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบท้องถิ่นด้วยเสน่ห์ไทย (Soft Power) ด้าน Fashion & Craft เมื่อวันที่ 13-15 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา

โดยมี นางสาวเด่นเดือน เหลืองเช็ง ผู้อำนวยการฝ่ายสินค้าการท่องเที่ยว ททท. เป็นประธานในการแถลงข่าว ณ บริเวณ ชั้น G โครงการเวลา แอท สินธร วิลเลจ หลังสวน กรุงเทพมหานคร เพื่อนำเสนอผลงานสร้างสรรค์ พร้อมสนุกสนานกับกิจกรรมสาธิต Fashion & Craft จาก 6 จังหวัดเมืองสร้างสรรค์ (Creative City) ต่อยอดต้นทุนทางวัฒนธรรมเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างเสน่ห์แฟชั่นไทยในระดับสากล

นางสาวเด่นเดือน เหลืองเช็ง ผู้อำนวยการฝ่ายสินค้าการท่องเที่ยว ททท. กล่าวว่า ททท. ยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยด้วยการนำเสนอเสน่ห์ไทย หรือ Soft Power อันเป็นจุดแข็งจุดขายของประเทศไทยควบคู่กับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) เพื่อบอกเล่าเรื่องราว (Storytelling) และถ่ายทอดประสบการณ์ทางการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับ Soft Power ซึ่งถือเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมที่เข้มแข็งของประเทศ

ททท. จึงดำเนินโครงการพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบท้องถิ่นด้วย Soft Power ผ่านกิจกรรมแสดงผลงาน “Thai Craft Destination” ที่นำเสนอสินค้าการท่องเที่ยวด้าน Fashion & Craft ใน 6 จังหวัดเมืองสร้างสรรค์ (Creative Tourism) ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่, แพร่, ขอนแก่น, สกลนคร, นครศรีธรรมราช และปัตตานี มาจัดแสดงให้ผู้ที่สนใจได้รับชม

พร้อมเชิญชวนร่วมสนุกกับกิจกรรมสาธิตภายในงาน การจัดงานในครั้งนี้นอกจากจะเป็นการนำเสนอผลงานสร้างสรรค์และสื่อสารอัตลักษณ์ท้องถิ่นให้ได้รู้จักเป็นวงกว้างแล้ว ยังเป็นการต่อยอดต้นทุนทางวัฒนธรรมที่มีมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ อันจะนำไปสู่การสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลกต่อไป

ภายในงาน ททท. ได้จัดแสดงผลงานสร้างสรรค์ด้าน Fashion & Craft จากชุมชนท่องเที่ยว 6 จังหวัดเมืองสร้างสรรค์ (Creative Tourism) เพื่อส่งมอบประสบการณ์การท่องเที่ยวผ่าน Soft Power โดยมีรายละเอียดแนวคิดของแต่ละจังหวัด ดังต่อไปนี้

1. จังหวัดเชียงใหม่ (แดนจักสานและงานไม้) จัดแสดงภายใต้แนวคิด “Chiang Mai Upcycling” ชาวเชียงใหม่ผูกพันกับธรรมชาติและงานฝีมืออย่างแนบแน่น โดยเฉพาะงานไม้และงานจักสานที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ จึงมีความคิดสร้างสรรค์ในการนำวัสดุที่เหลือจากงานหัตถกรรม หมุนเวียนกลับมาสร้างเป็นสินค้าใหม่ได้อย่างน่าสนใจ

2. จังหวัดแพร่ (แดนหม้อห้อม) จัดแสดงภายใต้แนวคิด “Retreat Phrae” การนำวัตถุดิบท้องถิ่นอย่าง “ห้อม” พืชที่ให้สีน้ำเงิน และเติบโตได้ดีท่ามกลางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของจังหวัดแพร่ นิยมนำมาย้อมผ้าสำหรับสวมใส่ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่นและสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนมาช้านาน จากงานหัตถกรรมดั้งเดิมจึงได้รังสรรค์ขึ้นใหม่ผ่านแรงบันดาลใจจากธรรมชาติสู่การพัฒนารูปแบบสินค้าห้อมให้ทันสมัย

3. จังหวัดขอนแก่น (แดนมัดหมี่) จัดแสดงภายใต้แนวคิด “Circular Phuvieng” ผ้ามัดหมี่ร่วมสมัยจากแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งจังหวัดขอนแก่นสามารถลดการนำเข้าวัตถุดิบใหม่ และหันมาใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด เศษเส้นไหมมากมายจากการทอผ้าถุงถูกนำมาออกแบบเทคนิคการทอใหม่ เกิดเป็นลายใหม่ที่แลดูคล้ายการทับซ้อนของชั้นหินฟอสซิลในอุทยานธรณีภูเวียง ประสานกับการจับคู่สีทำให้ดูร่วมสมัย เกิดเป็นผืนผ้าที่นำไปต่อยอดเป็นสินค้าอื่น ๆ ได้อีกมากมาย

4. จังหวัดสกลนคร (แดนสีคราม) ภายใต้แนวคิด “Keep Kram @ Sakon Nakorn” ครามสกล เป็นเอกลักษณ์เสน่ห์ไทยประจำท้องถิ่น สีครามเป็นสีที่อยู่กึ่งกลางระหว่างยามราตรีและท้องทะเลลึกที่เรารู้จักกันในชื่อ “เนวี่บลู” จัดอยู่ในประเภท “สีเย็น” ซึ่งมีคุณสมบัติเมื่อนำไปผสมกับสีอื่น ๆ จะทำให้เกิดสีใหม่ที่ยังแฝงเอกลักษณ์ของสีครามเอาไว้ ให้ความรู้สึกผ่อนคลายจิตใจ บอกเล่าผ่านภาพของทิวเขาภูพานบนผืนผ้าคราม บรรจงปักด้วยเส้นไหมหลากสีสันที่ สะท้อนภาพความสัมพันธ์ของผืนป่าและชุมชนอย่างชัดเจน

5. จังหวัดนครศรีธรรมราช (แดนถมนคร) ภายใต้แนวคิด “Nakorn Sri Reserve : ขลังนคร” งานถมนคร ศิลปะโบราณที่สร้างสรรค์ลวดลายสีเงินและดำอันประณีต เป็นงานศิลปหัตถกรรมชั้นสูงที่คนนครศรีธรรมราช และคนไทยภาคภูมิใจมาตั้งแต่สมัยโบราณ ต้องรักษาให้คงอยู่ในบริบทปัจจุบัน โดยประยุกต์ใช้เทคนิคและพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ ทำให้เกิดรูปแบบที่มีทั้งความสวยงาม ร่วมสมัย มีคุณค่า และยังคงความเป็นอัตลักษณ์จากภูมิปัญญาดั้งเดิม

6. จังหวัดปัตตานี (บาติกแดนใต้) ภายใต้แนวคิด “Diversity Pattani” การผสมผสานอย่างกลมเกลียวของพหุวัฒนธรรมในปัตตานี ก่อให้เกิดความสวยงามของทรัพยากรธรรมชาติ มรดกทางวัฒนธรรมของพื้นที่สร้างสรรค์ที่มีความเป็นเอกลักษณ์สูง ความงดงามถูกถ่ายทอดลงบนงานหัตถศิลป์อย่าง “ผ้าบาติก” ซึ่งแต่ละผืนถูกรังสรรค์ด้วยเทคนิคฝีมือการวาดเทียนด้วยมือแบบโบราณ หรือการปั๊มด้วยบล็อกไม้หรือการให้สีสัน เกิดเป็นผลงานสร้างสรรค์ที่ไม่ซ้ำใคร

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ไทยดัน Soft Power ด้าน Fashion & Craft อัพมูลค่าทางเศรษฐกิจสู่สากล

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่

– Website : https://www.prachachat.net

2024-09-16T04:18:26Z dg43tfdfdgfd