เคล็ดไม่ลับสไตล์ GRAB รู้อะไรไม่สู้เท่ารู้ “ดาต้า”

แม้จะมูฟออนจาก “โควิด-19” มาไกลมากแล้ว แต่หลายสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว กลายมาเป็นความธรรมดารูปแบบใหม่ที่แทรกซึมอยู่ในการใช้ชีวิตประจำวัน หนึ่งในนั้นคือการสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์ม “ดีลิเวอรี่” ที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี และผลักดันให้ผู้ประกอบการร้านอาหารต่าง ๆ ต้องปรับตัววางแผนการขายทั้งหน้าร้าน และบนแพลตฟอร์มควบคู่กันไป

ในงาน Restaurant Technology 2024 (Restech 2024) “ศิวพร ประจวบลาภ” รองผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด (กลุ่มธุรกิจดีลิเวอรี่) แกร็บ ประเทศไทย (Grab) ได้แบ่งปันข้อมูลอินไซต์ของผู้บริโภคในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ 2567 รวมไปถึงเทคนิคการเพิ่มยอดขายบนช่องทางดีลิเวอรี่

สแกนพฤติกรรมผู้บริโภค

“ศิวพร” กล่าวว่า แพลตฟอร์มดีลิเวอรี่เป็นส่วนเสริมในการสร้างรายได้กับกลุ่มลูกค้าหน้าใหม่ นอกเหนือจากการขายหน้าร้านที่รายได้ส่วนใหญ่จะมาจากคนในพื้นที่ โดย 95% ของผู้ใช้แกร็บตัดสินใจซื้ออาหารจากร้านที่ค้นพบครั้งแรก และจะเลือกดูเมนูเฉลี่ย 3-4 ร้าน ก่อนสั่งซื้อ

ปัจจัยที่ทำให้ร้านสามารถสร้างยอดขายได้มากขึ้น นอกจากได้รับ “รีวิวที่ดี” หรือการให้คะแนนสูง ๆ การตั้งค่า “ชื่อเมนู” ด้วยคีย์เวิร์ดที่คนนิยมเสิร์ช หรือสิ่งที่กำลังเป็นกระแสก็สามารถช่วยให้ร้านนั้น ๆ ถูกพบมากขึ้น และเปลี่ยนเป็นโอกาสในการสร้างคำสั่งซื้อได้

“ท็อป 3 ของคีย์เวิร์ดยอดนิยมในครึ่งปีแรก คือ กาแฟ เค้ก และส้มตำ เช่นกันกับคำว่า หมาล่า ที่มาแรงไม่แพ้กัน จากความนิยมอย่างมากของหมาล่าสายพานในช่วงที่ผ่านมา”

เจาะกลุ่มลูกค้าต่างชาติ

นอกจากจะตั้งชื่อเมนูด้วยคีย์เวิร์ดยอดนิยมแล้ว การตั้งชื่อเมนูหลายภาษา ก็เพิ่มโอกาสในการถูกค้นพบบนแพลตฟอร์ม เช่น ปริมาณการเสิร์ชคำว่า “ชานมไข่มุก” อยู่ที่ 3,850 ครั้งต่อวัน แต่คำว่า “Bubble Tea” ก็ยังมีถึง 401 ครั้งต่อวัน รวมถึงยังรองรับการใช้งานของผู้ใช้ต่างชาติ หรือ Expat ซึ่งเป็นกลุ่มที่มี Basket Size หรือยอดใช้จ่ายต่อบิลสูง เฉลี่ยแล้วมากกว่ากลุ่มผู้ใช้ทั่วไปประมาณ 2 เท่า

ปัจจุบันแกร็บสามารถให้บริการชื่อเมนูได้ 3 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ และจีน

“ลูกค้าต่างชาติไม่ใช่กลุ่ม Price Sensitive ที่อ่อนไหวกับราคา ยิ่งเป็นนักท่องเที่ยว ยิ่งจัดเต็มกับการใช้จ่าย ซึ่งสิ่งที่ผู้ใช้กลุ่มนี้มองหา คือการมีตัวเลือกที่หลากหลาย ทั้งร้านในไทย และร้านที่เป็น Comfort Food ไปจนถึงความน่าสนใจและสตอรี่ของแบรนด์”

ขายแบบคอมโบ้เซต

“ศิวพร” กล่าวต่อว่า ลูกค้าที่สั่งอาหารผ่านดีลิเวอรี่ยังมองถึง “ความคุ้มค่า” (Affordability) ในการจ่ายค่าส่งว่าเป็นสิ่งสำคัญ จึงเริ่มเห็นพฤติกรรมการสั่งอาหารแบบ “คอมโบ้เซต” จับคู่เมนูหรือสั่งมากกว่า 2 เมนู ใน 1 บิล เช่น ส้มตำ+คอหมูย่าง และกาแฟ+ขนมปัง ซึ่งยอดใช้จ่ายต่อบิลของผู้ซื้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ราว 250 บาท

และจากพฤติกรรมการสั่งอาหารของผู้ใช้แกร็บจะพบว่าเมนูขายดีวันจันทร์-อังคาร เป็นเมนูสำหรับทานคนเดียว เน้นทานไว ราคาไม่แพง เช่น ผลไม้ และกาแฟดำ ส่วนเมนูขายดีวันพุธ-ศุกร์ จะเป็นเมนูที่สามารถสั่งเป็นกลุ่มได้ เช่น เค้ก, ชานม และโรตี ส่วนเมนูขายดีวันเสาร์-อาทิตย์ จะเป็นมื้อหรู หรือมื้อที่เน้นการเฉลิมฉลอง เช่น อาหารต่างชาติ และไอศกรีม

อัดโปรฯดันยอดร้านค้า

นอกจากร้านจะสามารถเพิ่มยอดขายได้จากเทคนิคต่าง ๆ แล้ว “ศิวพร” ยังอธิบายเพิ่มเติมกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ด้วยว่า แกร็บยังมีแคมเปญที่ช่วยร้านค้ากระตุ้นยอดขายอีกมากที่จะทยอยปล่อยมาเรื่อย ๆ แบ่งเป็น 2 แกนหลัก คือ 1.แคมเปญที่ตอบโจทย์เรื่องความคุ้มค่า

ตัวอย่าง เช่น Hot Deals มอบส่วนลดในเวลาที่กำหนด สามารถเพิ่มยอดขายในมื้อเช้า (09.00-10.00 น.) 10% มื้อทานเล่น (13.00-16.00 น.) 9% และมื้อดึก (21.00-05.00) 6% หรือบริการแบบ Saver ที่ใช้เวลาในการจัดส่งมากหน่อย แต่ค่าส่งค่อนข้างถูก รวมถึงแคมเปญร้านเล็กลดใหญ่ ที่ช่วยเพิ่มการมองเห็น (Visibility) ของร้านเล็กบนแบนเนอร์ และหน้าแอปพร้อมมอบโค้ดส่วนลดสูงสุด 150 บาท เป็นต้น

และ 2.แคมเปญที่ตอบโจทย์เรื่องความหลากหลาย (Selection) เช่น GrabThumbsUp หรือร้านอร่อยยกนิ้วที่วัดจากยอดขาย และความนิยมของผู้ใช้ และ Only at Grab หรือร้านเด็ดที่มีบนแกร็บเท่านั้น

“เมื่อวัดจากยอดใช้จ่ายและการใช้งานบนแกร็บ เราเป็นแพลตฟอร์มอันดับหนึ่งจริง ๆ เพราะยอดขายของร้านกว่า 70-80% อยู่ที่เรา การที่แบรนด์เข้ามาอยู่ในแคมเปญ Only at Grab หรือเอ็กซ์คลูซีฟกับเราเจ้าเดียว จะได้รับสิทธิประโยชน์หลายอย่าง โดยเฉพาะการมองเห็นที่มากขึ้น หรือสื่อการตลาดที่แกร็บทำอย่างต่อเนื่อง”

ไม่ใช่เท่านั้น ถ้าร้านพาร์ตเนอร์ต้องการขยายตลาดไปต่างประเทศในอนาคตก็มองว่า ด้วย “แกร็บ อีโคซิสเต็ม” และการให้บริการในระดับภูมิภาค จะสนับสนุนหรือให้คำแนะนำกับร้านได้อย่างแน่นอน

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : เคล็ดไม่ลับสไตล์ Grab รู้อะไรไม่สู้เท่ารู้ “ดาต้า”

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่

– Website : https://www.prachachat.net

2024-09-18T07:31:26Z dg43tfdfdgfd