หมีเนย หมูเด้ง กับโอกาสทางธุรกิจจากความน่ารัก

ความน่ารัก เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แฟนคลับของหมีเนยและหมูเด้งคอยติดตามอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ดี หมีเนยและหมูเด้งไม่ได้รายแรกที่อาศัยความน่ารัก ทำให้มีคนติดตามและสร้างโอกาสทางธุรกิจ 

    ปกติแล้วที่คนจะชอบดูรูปหรือคลิปที่เกี่ยวข้องกับความน่ารักเป็นประจำ ทั้งเด็กทารก หรือ สัตว์เลี้ยง มีธุรกิจที่ใช้ประโยชน์จากความน่ารักมาต่อยอดอย่างเช่น ซานริโอ้ กับ Hello Kitty เป็นต้น

    มีงานศึกษาที่พบคุณลักษณะของเด็กทารก หรือ Baby Schema ที่เมื่อคนเห็นแล้วจะติดใจในความน่ารัก อยากปกป้อง ดูแล และมีความผูกพัน นั้นคือ ตากลมโต หน้าหรือหัวกลม จมูกเล็ก และแก้มยุ้ย ซึ่งทั้งหมีเนยและหมูเด้งก็เข้าข่ายคุณลักษณะดังกล่าว จึงไปกระตุ้นจิตใต้สำนึกของคนในเรื่องของการปกป้องดูแล 

    มีอีกการศึกษาที่พบว่าภาพของความน่ารักจะไปกระตุ้นให้สมองหลั่ง Dopamine ที่เป็นสารความสุข เมื่อดูสิ่งที่น่ารักก็จะทำให้คนมีความสุข จึงไม่แปลกใจว่าทำไมหลายคนจะชอบบอกว่าทำงานมาเหนื่อยๆ เมื่อกลับมาบ้านได้ดูคลิปหมีเนยและหมูเด้งจะรู้สึกมีความสุขและหายเหนื่อย

    สุดท้ายมีงานที่พบว่าความน่ารักนำไปสู่ความผูกพันทางสังคม หรือ Social Bonding ได้ ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่ได้ดู กดไลค์ กดแชร์ หรือ ให้ความเห็นบนสังคมออนไลน์กับรูปหรือคลิปที่น่ารัก จะทำให้รู้สึกว่ามีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่รักและชอบในสิ่งเดียวกัน

ธุรกิจจะถอดบทเรียนจากปรากฎการณ์ความน่ารักของหมีเนยและหมูเด้ง มาใช้และเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ธุรกิจได้อย่างไร?

ข้อแรก ต้องเริ่มจากการสร้างตัวแทนหรือคาแรคเตอร์ที่น่ารักขึ้นมาและเป็นคาแรคเตอร์ที่เมื่อทำให้คนเห็นแล้ว อยากจะปกป้อง ดูแล และติดตาม (ตามหลัก Baby Schema) รวมทั้งจะต้องมีบุคลิกภาพ อารมณ์และพฤติกรรมที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้

    หมีเนย จะเป็นเรื่องของความสนุกสนาน ขี้เล่น ไร้เดียงสา หรือ หมูเด้งจะเป็นตัวกลมๆ อ้วนๆ ซุกซนและน่ารัก ซึ่งเป็นอารมณ์ที่เชื่อมโยงกับคนได้ง่าย จะต้องเป็นคาแรคเตอร์ที่เมื่อเห็นแล้วจะนำไปสู่การหลั่งสารเพิ่มความสุขในสมอง

    ข้อสอง จะต้องสร้างเรื่องราวหรือ Story เกี่ยวกับคาแรคเตอร์นั้น และเป็นเรื่องราวที่เชื่อมโยงกับบุคลิกของคาแรคเตอร์ การสร้างเรื่องราวนั้นจะช่วยทำให้คนเกิดความผูกพันและอยากจะติดตามต่อไป โดยเรื่องราวจะต้องนำไปสู่อารมณ์ในทางบวก เช่น ความรัก ความสุข การปกป้องดูแล ความเอ็นดู หรือ การก้าวข้ามอุปสรรค ปัญหาต่างๆ

    ข้อสาม จะต้องสร้างชุมชนหรือกลุ่มแฟนคลับที่มีอารมณ์ร่วมกัน ผ่านทางเรื่องราวที่สื่อออกมา แฟนคลับจะต้องมีปฏิสัมพันธ์ผ่านสังคมออนไลน์ด้วย ทั้งแชร์ ให้ความเห็น สร้างเนื้อหาเอง หรือ การสร้าง memes เป็นต้น ชุมชนที่มีอารมณ์ร่วมจะทำให้เกิดการกระจายและแพร่หลายของคาแรคเตอร์ยิ่งขึ้นและนำไปสู่ความภักดี ยิ่งสามารถขยายกลุ่มชุมชนหรือแฟนคลับให้ได้มากขึ้นเท่าไร ยิ่งนำไปสู่การสร้างโอกาสทางธุรกิจมากขึ้นเท่านั้น

ข้อสี่ สุดท้ายคือ พัฒนาสินค้าและบริการที่เชื่อมโยงกับคาแรคเตอร์ดังกล่าว และทำให้กลุ่มแฟนคลับเกิดอารมณ์ร่วมที่จะซื้อ จากนั้นจึงกระจายไปสู่คนกลุ่มต่างๆ ที่มากขึ้น โดยสินค้าและบริการ จะต้องยึดกับบุคลิกภาพ อารมณ์ ที่เชื่อมโยงกับคาแรคเตอร์ด้วย 

กรณีของ หมีเนยและหมูเด้ง เป็นตัวอย่างของกลยุทธ์ที่เรียกว่า Emotional Strategy ที่ใช้คาแรคเตอร์ในการทำให้เกิดการมีส่วนร่วม สร้างชุมชนที่มีความภักดี และนำไปสู่โอกาสทางธุรกิจ กลยุทธ์นี้เล่นกับอารมณ์ของความน่ารัก ความต้องการดูแล และความผูกพัน ที่สำคัญคือ Emotional Strategy นั้นจะต้องนำไปสู่อารมณ์แห่งความสุขของผู้บริโภคด้วย

2024-09-18T06:00:58Z dg43tfdfdgfd