ฟอสซิลหายากไขความลับวิวัฒนาการของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

ซากฟอสซิลที่หายากอย่างไม่น่าเชื่อสองชิ้นที่ถูกค้นพบบนเกาะสกายของสกอตแลนด์กำลังทำให้ความเข้าใจของเราเกี่ยวกับการวิวัฒนาการของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเปลี่ยนไป

ในขณะที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กบางตัวในปัจจุบันมีอายุแค่เพียงปีเดียว นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวแรก ๆ ที่อยู่ในยุคเดียวกับไดโนเสาร์สามารถมีอายุได้ถึงเจ็ดปีขึ้นไป

มีฟอสซิลพียงไม่กี่ชิ้นของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมดึกดำบรรพ์ลักษณะคล้ายหนูผี (shrew) ที่ชื่อว่า ครูซาโทดอน (Krusatodon) ที่เคยถูกค้นพบ รวมถึงโครงกระดูกที่สมบูรณ์อย่างมากของตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจากเกาะสกายสองชิ้น

นักวิทยาศาสตร์หวังว่า การศึกษาฟอสซิลของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมยุคแรกจะช่วยไขความลับเกี่ยวกับวิธีที่พวกมันพัฒนาจนกลายเป็นสัตว์ที่ประสบความสำเร็จสูงและครองทุกถิ่นที่อยู่บนโลก

นักวิจัยใช้การถ่ายภาพเอ็กซเรย์ความละเอียดสูงเพื่อมองผ่านหินและศึกษารูปแบบการเติบโตในฟันของฟอสซิลทั้งสอง คล้ายกับการนับวงปีของต้นไม้

“ตัวอ่อนกำลังหย่านม กำลังผลัดฟัน และอายุอาจจะถึงสองปีแล้ว” ดร. เอลซา แพนซิโรลิ นักวิจัยร่วมด้านบรรพชีวินวิทยาที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติสกอตแลนด์กล่าวกับบีบีซี “นี่เป็นเรื่องที่ไม่ปกติและบอกเราได้มากเกี่ยวกับกระบวนการวิวัฒนาการของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม”

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กในปัจจุบันมีอายุขัยสั้นกว่ามาก บางตัวมีอายุได้เพียง 12 เดือน และพวกมันโตเร็ว สูญเสียฟันน้ำนมและหย่านมภายในไม่กี่เดือนหลังคลอด

สิ่งมีชีวิตชนิดนี้ที่ชื่อว่า "ครูซาโทดอน เคิร์ตลิงตันซิส" (Krusatodon kirtlingtonesis) อาศัยอยู่เมื่อประมาณ 166 ล้านปีก่อน เมื่อตอนที่เกาะสกายยังเป็นสวรรค์เขตร้อนชื้นที่มีทะเลตื้นอุ่นและป่าทึบ

ในยุคจูราสสิคนี้ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวแรกเริ่มตั้งหลักในร่มเงาของไดโนเสาร์

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก ดึกดำบรรพ์ และบางครั้งก็ดูแปลกประหลาดเหล่านี้ เป็นบรรพบุรุษของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลากหลายพันธุ์ที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ตั้งแต่แมว มนุษย์ ไปจนถึงวาฬ

ขุมทรัพย์ฟอสซิล

ดร.แพนซิโรลิกล่าวว่า ฟอสซิลจากเกาะสกายกำลังทำให้สกอตแลนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้นเมื่อพูดถึงการทำความเข้าใจวิวัฒนาการของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และ "นี่เป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของภูเขาน้ำแข็งในแง่ของสิ่งที่พวกมันสามารถบอกเราได้"

ฟอสซิลครูซาโทดอนที่ค้นพบในเกาะสกายในปี 2016 เป็นโครงกระดูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในยุคจูราสสิคตัวอ่อนเพียงตัวเดียวที่วงการวิทยาศาสตร์รู้จัก ในขณะที่ตัวเต็มวัยซึ่งพบในทศวรรษ 1970 เป็นหนึ่งในโครงกระดูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่สมบูรณ์ที่สุดจากยุคนี้ในโลก

"การค้นพบโครงกระดูกฟอสซิลที่หายากมากสองตัวของสายพันธุ์เดียวกันในช่วงเติบโตต่างกันได้เขียนความเข้าใจของเราใหม่เกี่ยวกับชีวิตของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมยุคแรกสุด" ดร.สติก วอลช์ ภัณฑารักษ์อาวุโสด้านบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติสกอตแลนด์และผู้ร่วมวิจัยในการศึกษานี้กล่าว

การศึกษานี้ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature โดยมีนักวิจัยจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกัน มหาวิทยาลัยชิคาโก ศูนย์วิจัยรังสีซินโครตรอนแห่งยุโรป และมหาวิทยาลัยควีนแมรีแห่งลอนดอนร่วมศึกษาด้วย

2024-07-25T06:14:33Z dg43tfdfdgfd