ทำไมเด็กถึงมองว่าเวลาผ่านไปช้ากว่าผู้ใหญ่ ?

ที่บ้านของฉัน ทุกคนเอาแต่เถียงกันว่าเวลาผ่านไปเร็วหรือช้ากันแน่

“ช้าที่สุดตอนอยู่ในรถ !” ลูกชายของฉันตะโกน

“ไม่จริงเลย” ลูกสาวของฉันตอบ “ฉันยุ่งเกินกว่าจะรู้สึกว่าเวลาผ่านไปช้า แต่บางทีอาจจะเป็นในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ตอนที่พวกเรานอนดูหนังบนโซฟา นั่นอาจจะใช่ก็ได้”

ทว่าทั้งคู่เห็นตรงกันอย่างหนึ่ง พวกเขาคิดว่าเมื่อผ่านวันคริสต์มาสหรือวันเกิดของตัวเองไปแล้ว เวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้า พวกเขาต่างรู้สึกหมดหวังเพราะต้องรออีก 365 วัน กว่าจะได้ฉลองอีกครั้ง ช่วงเวลาหนึ่งปีดูเหมือนจะยาวนานไม่จบไม่สิ้นเหลือเกินสำหรับเด็กทั้งสองคน

นี่เป็นความรู้สึกที่ฉันจำได้ดี ช่วงปิดเทอมหน้าร้อนที่เต็มไปด้วยการเล่นน้ำ กระโดดเชือกบนสนามหญ้าที่เพิ่งตัดเสร็จ ผ้าที่พาดอยู่บนราวตากผ้าขณะที่แดดแรงจัด ในช่วงเวลาแบบนั้น ฉันรู้สึกจริง ๆ ว่า เวลาช่างผ่านไปอย่างเชื่องช้าเหลือเกิน

เทเรซ่า แม็คคอร์แมค ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยควีน เบลฟาสต์ในไอร์แลนด์เหนือ เชื่อว่าการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับเวลาเป็นหัวข้อที่ยังไม่ได้รับการศึกษาวิจัยมากพอ ผลงานของเธอได้สำรวจมาตลอดว่า มีบางสิ่งที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงเกี่ยวกับกระบวนการรับรู้เวลาของเด็ก เช่น ระบบนาฬิกาภายใน[ร่างกาย] ที่ทำงานด้วยความเร็ว ที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ แต่ยังคงมีคำถามต่อเรื่องนี้มากกว่าคำตอบที่จะนำมาอธิบายคำถามเหล่านั้น

"มันแปลกมากที่เรายังไม่รู้คำตอบของคำถามง่าย ๆ เช่น เด็ก ๆ จะสามารถแยกแยะอดีตกับอนาคตอย่างชัดเจนได้ตอนที่พวกเขาอายุเท่าไหร่ เพราะนี่เป็นสิ่งที่เหมือนจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานของวิธีที่เราคิดเกี่ยวกับชีวิตของเราในฐานะผู้ใหญ่" แม็คคอร์แมคกล่าว

เธออธิบายว่า แม้ว่าเราจะยังไม่เข้าใจชัดเจนว่า เด็ก ๆ เข้าใจแนวคิดของเวลาเชิงเส้น [เวลาที่ผ่านไปจากอดีตสู่ปัจจุบันและอนาคต] เมื่อใด อย่างไรก็ดี เธอกล่าวว่า ดูเหมือนเด็ก ๆ จะมีความอ่อนไหวต่อกิจวัตรประจำวันที่เกิดขึ้น เช่น เวลาอาหารและเวลานอน ได้อย่างรวดเร็ว โดยเธอย้ำว่าการตระหนักรู้ถึงกิจวัตรเหล่านี้ แตกต่างจากการมีความรู้สึกถึงเวลาเชิงเส้นเหมือนผู้ใหญ่

ผู้ใหญ่มีความสามารถในการคิดถึงช่วงเวลาต่าง ๆ อย่างอิสระจากเหตุการณ์ ตรงกันข้ามกับเด็ก ๆ เนื่องจากผู้ใหญ่มีความรู้เกี่ยวกับระบบนาฬิกาและปฏิทินที่เป็นแบบแผน การใช้ภาษาก็มีบทบาทสำคัญด้วยเช่นกัน

"ต้องใช้เวลากว่าที่เด็ก ๆ จะสามารถใช้ภาษาที่เกี่ยวกับเวลาได้อย่างสมบูรณ์ เช่น คำว่า ก่อน, หลัง, พรุ่งนี้ และ เมื่อวาน" แม็คคอร์แมคกล่าว

เธอยังเสริมอีกว่า ความเข้าใจของเราเกี่ยวกับการผ่านไปของเวลา ยังขึ้นอยู่กับว่าเราถูกถามให้ประเมินเวลานั้นเมื่อใด

"คำถามคือ คุณถูกถามขณะที่เหตุการณ์กำลังเกิดขึ้นหรือมองย้อนกลับไปในอดีต" เธอยกตัวอย่างที่หลายคนสามารถเข้าใจได้ "ตั้งแต่ลูกเกิดจนถึงวันที่ลูกออกจากบ้าน ดูเหมือนว่าเวลาผ่านไปในพริบตา แต่ในช่วงที่คุณต้องเลี้ยงลูกในแต่ละวัน วันหนึ่งรู้สึกเหมือนยาวนานตลอดไป"

งานวิจัยจำนวนมากพบว่า ความสามารถในการตัดสินใจเกี่ยวกับความยาวนานและความเร็วของเวลาที่ผ่านไปนั้นพัฒนาขึ้นในสมองมนุษย์อย่างแยกจากกัน เด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปีมักจะเข้าใจว่า บทเรียนหนึ่งในห้องเรียนผ่านไปเร็วแค่ไหน แต่การตัดสินใจของพวกเขามักเกี่ยวข้องกับสภาพอารมณ์มากกว่าความยาวนานที่แท้จริง องค์ประกอบทั้งสองนี้จะรวมกันในช่วงวัยหลังจากที่เด็กเริ่มเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างความเร็วและความยาวนาน

นอกจากนั้น ยังมีเรื่องของความทรงจำ

งานวิจัยหลายชิ้นเน้นว่า ประสบการณ์ของเรากับการผ่านไปของเวลานั้นขึ้นอยู่กับวิธีที่สมองของเราจัดเก็บความทรงจำและบันทึกประสบการณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ ซอลตัน นาดาสดี รองศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเอิทเวอช โลแรนด์ (Eötvös Loránd) ในกรุงบูดาเปสต์ ของฮังการีได้ศึกษามานาน

ในปี 1987 ขณะที่ รศ.นาดาสดี ยังเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยบูดาเปสต์ เขาชักชวนเพื่อนนักศึกษาให้เข้าร่วมการทดลองภาคสนามเกี่ยวกับการรับรู้เวลาในเด็กและผู้ใหญ่ เขาต้องการเข้าใจว่าทำไมเวลาเหมือนจะขยายออกเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น การทดลองนั้นง่ายมาก พวกเขาฉายวิดีโอสองคลิปให้กลุ่มเด็กและผู้ใหญ่ดู ทั้งสองคลิปมีความยาวหนึ่งนาทีเท่ากัน และถามพวกเขาว่าคลิปไหนรู้สึกว่ายาวที่สุดและคลิปไหนรู้สึกว่าสั้นที่สุด

หลังจากผ่านไปกว่าสามทศวรรษ รศ.นาดาสดี และทีมของเขาตัดสินใจทำการทดลองอีกครั้ง โดยให้กลุ่มเด็กและผู้ใหญ่ดูวิดีโอที่แสดงเหตุการณ์ตำรวจจับโจรซึ่งเต็มไปด้วยการเคลื่อนไหว และวิดีโอที่มีเนื้อหาน่าเบื่อเกี่ยวกับผู้คนพายเรือในแม่น้ำ และให้พวกเขาใช้มือแสดงท่าทางเพื่อประเมินระยะเวลา ผลลัพธ์เหมือนเดิม เด็กอายุ 4-5 ปีรู้สึกว่าวิดีโอที่เต็มไปด้วยการเคลื่อนไหวดูนานกว่า ส่วนวิดีโอน่าเบื่อดูสั้นกว่า สำหรับผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ กลับเป็นตรงกันข้าม

การทดลองนี้แสดงให้เห็นว่าในกรณีที่ไม่มีอวัยวะรับสัมผัสที่สามารถทำนายเวลาได้ มนุษย์ใช้วิธีอื่นในการประมาณระยะเวลา "ประสบการณ์สัมผัสเวลาของเรานั้นไม่ตรงไปตรงมา เราต้องค้นหาบางสิ่งที่คิดว่ามีความสัมพันธ์กับเวลา" เขากล่าว "ในทางจิตวิทยา เราเรียกสิ่งนี้ว่า "วิทยาการศึกษาสำนึก" (heuristics) เด็ก ๆ ใช้สิ่งที่พวกเขาพูดถึงหรือคิดถึงเพื่อประเมิน"

ตัวช่วยเหล่านี้เปลี่ยนไปเมื่อเด็กเข้าโรงเรียน สถานที่ที่พวกเขาเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิดเรื่องเวลาอย่างเป็นระบบ “โรงเรียนทำให้เราอยู่ในตารางเวลา แต่ก็ไม่ได้ทำให้เรารับรู้เวลาอย่างแท้จริง มันเพียงแค่เปลี่ยนวิธีประเมินเวลาไปอีกแบบหนึ่ง”

แม็คคอร์แมคยังกล่าวถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดของเวลาในเด็ก “หนึ่งคือกระบวนการควบคุมของพวกเขาไม่เหมือนผู้ใหญ่ พวกเขาอาจจะอดทนได้น้อยกว่าและพบว่าการรอนั้นยากกว่า นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับกระบวนการให้ความสนใจด้วย ยิ่งคุณให้ความสนใจต่อเวลาที่ผ่านไปมากเท่าใด เวลาจะดูช้าลงสำหรับคุณ”

การวิจัยของ ซิลวี่ ดรัวต์-โวแลต์ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลร์มงต์ โอแวร์ญ (Clermont Auvergne) ในฝรั่งเศส และ จอห์น แวร์เดน ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยคีล (Keele) ในสหราชอาณาจักร พบว่าประสบการณ์ของการผ่านเวลาของผู้ใหญ่ก็เชื่อมโยงกับสภาวะอารมณ์เช่นกัน กล่าวคือ ถ้าคุณมีความสุข เวลาจะผ่านไปเร็วขึ้น แต่ถ้าคุณเศร้า เวลาจะช้าลง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ช่วงล็อกดาวน์ เมื่อการวิจัยพบว่า เวลาที่ผ่านไปอย่างช้าลงสัมพันธ์กับความเครียดมากขึ้น มีกิจกรรมทำลดลง และการมีอายุมากขึ้น

นอกจากนี้การดูภาพยนตร์ยังสามารถกระตุ้นการรับรู้เวลาได้เช่นเดียวกัน อาทิ ภาพยนตร์ที่น่ากลัวทำให้รู้สึกว่าเวลาผ่านไปช้าลง หรือการดูภาพที่ทำให้รู้สึกขยะแขยง การวิจัยอื่น ๆ ยังพบว่า ประสบการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ เช่น การเดินทางในรถไฟที่แออัดในช่วงเวลาเร่งด่วน ทำให้รู้สึกว่าใช้เวลานานกว่าการเดินทางในสถานการณ์ที่เงียบสงบกว่า

นอกจากนี้ การเสื่อมสภาพทางร่างกายเมื่อเราอายุมากขึ้นก็อาจมีผลต่อการรับรู้เวลาได้เช่นกัน ตามที่เอเดรียน เบจาน ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมเครื่องกลจากมหาวิทยาลัยดุ๊ก ในเมืองเดอรัม รัฐนอร์ทแคโรไลนาของสหรัฐฯ อธิบายไว้ เขาพยายามอธิบายปริศนาของการรับรู้เวลาโดยใช้ทฤษฎีที่เขาพัฒนาขึ้นในปี 1996 เกี่ยวกับ "ฟิสิกส์ของชีวิต" หรือที่รู้จักกันในชื่อ "constructal law" [ที่เป็นทฤษฏีว่าด้วยการไหลของสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติที่นำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต]

"แหล่งข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดที่ส่งไปยังสมองของเรามาจากการมองเห็น จากเรตินาไปยังสมอง" เบจานกล่าว "ผ่านเส้นประสาทตา สมองจะได้รับภาพนิ่ง ๆ เหมือนเฟรมของภาพยนตร์ สมองพัฒนาในช่วงวัยเด็กและชินกับการรับภาพเหล่านี้จำนวนมาก เมื่อโตขึ้น ร่างกายของเรามีขนาดใหญ่ขึ้น ระยะทางระหว่างเรตินาและสมองเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า เส้นทางการส่งสัญญาณมีความซับซ้อนมากขึ้น มีสาขามากขึ้น และนอกจากนี้ เมื่อเราอายุมากขึ้น เรายังเผชิญกับการเสื่อมสภาพด้วย"

เขาอธิบายว่า การที่เรารับ "ภาพในใจ" จากสิ่งเร้าจากอวัยวะรับสัมผัสต่าง ๆ ลดลงตามอายุ สิ่งนี้สร้างความรู้สึกว่าเวลาในใจของเราถูกบีบอัด เนื่องจากเราได้รับภาพในใจน้อยลงในหนึ่งหน่วยของเวลานาฬิกาเมื่อเราเป็นผู้ใหญ่ เทียบกับเมื่อเราเป็นเด็ก

การศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับความชราภาพแสดงให้เห็นว่าอาจมีความเชื่อมโยงระหว่างการเสื่อมสภาพของเส้นประสาทตาและการลดลงของความเร็วในการประมวลผลข้อมูล รวมถึงความจุของหน่วยความจำขณะทำงาน อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการศึกษามากขึ้นเพื่อทำความเข้าใจประเด็นนี้อย่างถ่องแท้

สิ่งที่คุณกำลังมองอยู่ก็มีผลต่อการรับรู้เวลาของคุณเช่นกัน คุณสมบัติของสิ่งที่สังเกตเห็น เช่น ขนาดของฉาก ความง่ายในการจดจำ และความหนาแน่นหรือความยุ่งเหยิงของสิ่งที่อยู่ในภาพ สามารถส่งผลต่อการรับรู้เวลาได้ งานวิจัยล่าสุดที่ทำโดยนักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยจอร์จ เมสัน (George Mason) ในเมืองแฟร์แฟกซ์ รัฐเวอร์จิเนีย ในสหรัฐฯ พบว่า ขนาดและความจำง่ายของฉากทำให้รู้สึกว่าเวลาผ่านไปช้าลง ในขณะที่ความหนาแน่นหรือความยุ่งเหยิงทำให้รู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วขึ้น

หัวใจของเรายังส่งสัญญาณภายในที่สำคัญไปยังสมองเกี่ยวกับการผ่านไปของเวลา ความรู้สึกของเราว่า เหตุการณ์หนึ่ง ๆ ใช้เวลานานแค่ไหนนั้นเปลี่ยนไปตามจังหวะการเต้นของหัวใจ ถ้าหัวใจมีบทบาทสำคัญในการรับรู้เวลาจริง ๆ ก็ไม่น่าแปลกใจเลยที่อัตราการเต้นของหัวใจจะลดลงตามอายุ อัตราการเต้นของหัวใจของเรามักจะสูงสุดในช่วงไม่กี่เดือนแรกหลังคลอด ก่อนที่จะลดลงอย่างช้า ๆ เมื่อเราอายุมากขึ้น

อีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเราหลายคนเมื่อเราอายุมากขึ้นคือการมีรูปแบบชีวิตที่ตายตัวและขาดความยืดหยุ่น การวิจัยพบว่า ความเครียดจากเวลาที่จำกัด ความเบื่อหน่าย และกิจวัตรที่ซ้ำซาก รวมถึงการมองไปข้างหน้าแทนที่จะอยู่กับปัจจุบัน ทำให้เรารู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วขึ้น

สิ่งที่เราทำในปัจจุบันนั้นมีความสำคัญต่อความเข้าใจเกี่ยวกับเวลาไม่ว่าเราจะอายุเท่าไรก็ตาม เมื่อเรามีภาระทางจิตใจมากขึ้น เรามักจะรู้สึกว่าเวลาสั้นลง เพราะเรามักจะประเมินเวลาที่ใช้ในการทำงานให้เสร็จต่ำกว่าความเป็นจริง โดยเฉพาะเมื่องานนั้นมีความซับซ้อน

ลองนึกถึงค่ายฤดูร้อนที่เต็มไปด้วยความสนุกสนานสองสัปดาห์ มันอาจจะน่าจดจำกว่าทั้งปีการศึกษา รศ.นาดาสดี อธิบายว่า ความทรงจำเกี่ยวกับค่ายฤดูร้อนนั้นอาจจะครอบครองพื้นที่สมองมากกว่า เพราะมีเหตุการณ์ที่แปลกใหม่และน่าตื่นเต้นเกิดขึ้นมากมายในช่วงเวลาสั้น ๆ นั้น

"ผู้คนอาจตัดสินเหตุการณ์ในช่วงเวลาหนึ่งตามปริมาณของสิ่งใหม่ ๆ ที่พวกเขาจำได้" แม็คคอร์แมคกล่าว "ตัวอย่างเช่น หากคุณเป็นผู้สูงวัย อาจไม่มีการเปลี่ยนแปลงชีวิตครั้งใหญ่เกิดขึ้นมากนักในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ถ้ามี สิ่งเหล่านั้นจะติดอยู่ในความทรงจำของคุณเหมือนกับค่ายฤดูร้อนในวัยเด็ก"

เมื่อคำนึงถึงเรื่องนี้แล้ว ผู้ใหญ่อย่างเราจะสามารถทำให้เวลาช้าลงเหมือนในวัยเด็กได้หรือไม่ งานวิจัยบางชิ้นชี้ว่า การออกกำลังกายอาจช่วยให้การรับรู้เวลาช้าลง ดังนั้นการเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้นอาจช่วยได้ (แม้ว่า ถ้าหักโหมเกินไป อาจจะให้ผลตรงกันข้าม เนื่องจากความเหนื่อยล้าทางร่างกายสามารถทำให้รู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วขึ้น)

ศ.เบจาน ยังมีแนวคิดที่ไม่ต้องใช้แรงมากนักอีกด้วย อย่างเช่น

"ทำให้ชีวิตช้าลงอีกสักนิด บังคับตัวเองให้ทำสิ่งใหม่ ๆ หลีกหนีจากกิจวัตรเดิม ๆ" เขากล่าว "ให้รางวัลตัวเองด้วยสิ่งที่แปลกใหม่ ทำสิ่งที่ไม่ปกติ คุณได้ยินมุขตลกดี ๆ มาบ้างไหม เล่าให้ฟังหน่อยสิ! คุณมีไอเดียใหม่ ๆ ไหม ลองทำสิ่งใหม่ ๆ ดูสิ สร้างอะไรสักอย่าง หรือพูดอะไรสักอย่าง"

2024-09-18T06:52:29Z dg43tfdfdgfd