THE LEGACY OF MILITARY STYLE: ทำไมสไตล์ทหารถึงไม่เคยตายและอยู่รอดในวงการแฟชั่นเสมอมา

‘เครื่องแต่งกายทหาร’ คงไม่ได้เกิดมาสำหรับทุกคน ความเซอร์ที่มาคู่กับอายุของเครื่องแต่งกายทหารแท้ๆ แต่ละชิ้นอาจจะมากเกินไปสำหรับหลายๆ คน หรือไม่อย่างนั้น กลิ่นความเป็นชายที่ผูกคู่กันมากับกองทัพก็อาจไม่เข้ากับเอเนอร์จี้ของเรา หรือเราก็แค่อาจจะไม่เหมาะกับลายพรางมากขนาดนั้น 

แต่ถึงจะไม่ใช่สำหรับทุกคน มันก็เป็นสไตล์ที่อยู่รอดตามกาลเวลามาอยู่เสมอ ทั้งจากความคงทนของวัสดุที่ใช้ตัดเย็บ และจากอิทธิพลที่เสื้อผ้าทหารมีต่อวงการแฟชั่นด้วย 

อิทธิพลที่ว่านั้นมากกว่าแค่ผิวเผิน ถึงจะมีชิ้นที่เห็นแล้วรู้ทันทีว่าเกิดมาจากการทหาร เช่น เสื้อแจ็กเก็ตนักบิน รองเท้าคอมแบตบูต หรือกางเกงคาร์โก แต่เครื่องแต่งกายทหารพรางตัวอยู่ในชิ้นเสื้อผ้าของเราเยอะแบบคาดไม่ถึง มาทั้งในรูปแบบของแรงบันดาลใจการออกแบบ การทำซ้ำและตีความใหม่ หรือไม่ก็ฝังรากลึกลงไปในกระบวนการการผลิตเลยก็มี 

หากจะพูดถึงรองเท้ายอดฮิตจากตลอดทั้งปีที่ผ่านมา Adidas Samba น่าจะอยู่ในลำดับท็อปๆ อัปเปอร์หนังสีขาวเข้าทรงพอดิบพอดีกับเท้า หนังกลับที่บริเวณเหนือนิ้วเท้าสร้างความหลากหลายในผิวสัมผัส แถบสามขีดไอคอนิกของแบรนด์ พร้อมกับพื้นยางกัมแบนราบสีโทปพารองเท้าเรียบง่ายแมตช์ได้ทุกชุดคู่นี้เด่นออกมาในชุดของเรา จะแปลกใจหรือเปล่าหากบอกว่ารองเท้าคู่นี้มีความเชื่อมโยงกับรองเท้าทางการทหารเยอรมัน?

Adidas

Samba มีประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปถึงปี 1950 ในฐานะรองเท้าฟุตบอลทีมชาติเยอรมนีที่ผู้เล่นจะสวมใส่ในอากาศเย็น หน้าตาของเวอร์ชันเดิมและเวอร์ชันปัจจุบันแตกต่างกันอยู่มาก จากรองเท้าหนังข้อกลางเปลี่ยนเป็นรองเท้าลำลองที่เรารู้จักกัน ทั้งสองแบบแตกต่างกันมากเสียจนเราไม่อาจเรียกมันว่ารองเท้าคู่เดียวกันได้อีกต่อไป และนั่นอาจจะเป็นการคิดที่ถูกต้องก็ได้ เพราะดูเหมือนว่าระหว่างการเติบโตของ Samba รองเท้าคู่นี้ได้รับอิทธิพลมาจากดีไซน์อื่น

การเปลี่ยนแปลงทรงรองเท้าที่เล่ามาเกิดขึ้นเมื่อปี 1990 ซึ่งเป็นช่วงหลังจากที่กองทัพเยอรมนีติดต่อโรงงานรองเท้า Dassler (หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Adidas) ให้ผลิตรองเท้าสำหรับทหารเพื่อใช้ใส่ฝึกซ้อม รองเท้าคู่ดังกล่าวชื่อว่า ‘Bundeswehr Sportschuhe (BW-Sport)’ หรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า ‘German Army Trainer (GAT)’

ประวัติศาสตร์ของ BW-Sport พร่าเลือนเป็นอย่างมาก ในบทความย้อนรอยประวัติศาสตร์รองเท้าคู่ดังกล่าวโดยนิตยสาร The Wall Street Journal ผู้เขียนเล่าถึงการซักประวัติรองเท้าทหารคู่นี้เอาไว้ว่า โฆษกของ Adidas ยืนยันว่าตัวเองเป็นผู้ออกแบบรองเท้า BW-Sport แต่โฆษกพิพิธภัณฑ์กองทัพเยอรมันแจงว่ารองเท้าถูกออกแบบโดย Puma (แบรนด์ซึ่งแยกตัวออกไปจาก Adidas) และเมื่อเขาไปถาม Puma โฆษกแบรนด์กลับตอบว่าไม่มีข้อมูลว่าพวกเขาออกแบบรองเท้าคู่นี้ 

หยุดประวัติศาสตร์มึนงงเอาไว้ที่ตรงนั้นก่อนแล้วหันมาดูดีไซน์ Samba ที่เรารู้จักกันในปัจจุบันได้รับอิทธิพลมาจากรองเท้าคู่นี้อย่างชัดเจน การวางหนังและหนังกลับ ดีเทลด้ายและรูปทรงเรียวยาวเข้ารูปเท้า และพื้นรองเท้าที่ใช้มีดีไซน์เดียวกัน ไม่ว่าใครจะเป็นคนทำ ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้ง 2 เชื่อมโยงกันแน่นอน

Maison Margiela

Mustard Sneakers

ความแมตช์ง่ายของรองเท้าทรง BW-Sport ทำให้มันคงอยู่ในตู้รองเท้าของเราหลายๆ คนอย่างยาวนาน นอกจากนั้นมันยังทำหน้าที่เป็นพื้นที่ว่างให้เหล่านักออกแบบได้หยิบไปแต่งเติม เช่น Martin Margiela ที่คืนชีพดีไซน์นี้ด้วยการปรับวัสดุของมันไปมา บางทีก็เสริมเติมการสะบัดสีเข้าไปให้รองเท้าเหมือนภาพวาดแอปแสตรก หรือว่าจะในแบรนด์ใกล้ตัวเราอย่าง Mustard Sneakers ที่วางขายรองเท้าชื่อ ‘GAT’ มาด้วยการเล่นสนุกกับการเปลี่ยนวัสดุไปใช้ผ้าใบแทนหนัง แล้วเปลี่ยนพื้นรองเท้าเป็นพื้นแบนลายก้างปลา ทำให้ทรงรองเท้าเรียวยาวคู่เดิมกลายเปลี่ยนไปคล้ายกับรองเท้านักเรียนไทยแทน 

ซูมออกมาอีกนิด สิ่งที่เครื่องแต่งกายทหารมอบให้กับโลกมากที่สุดคือแจ็กเก็ตและโค้ต หากเราย้อนรอยแจ็กเก็ตตัวเก่งของเราไปมากพอ จุดกำเนิดของพวกมันมักกลับไปที่กองทัพ ตัวที่น่าจะพอเดาได้ก็มีเช่น MA-1 Bomber Jacket ที่มาจากเสื้อคลุมสำหรับนักบินเครื่องบินรบอเมริกันเมื่อช่วงปี 50s หรือ Trench Coat โค้ตยาวกระดุม 2 แถว ที่เคยเป็นเครื่องแต่งกายสำหรับทหารอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่ 1 

ชิ้นที่เราอาจคาดไม่ถึงว่าคือเครื่องแต่งกายทหารมาก่อนคือ Blazers แจ็กเก็ตทรงสูทสำหรับโอกาสไม่ทางการนัก (เรารู้ว่าจริงๆ มันหยุมหยิมกว่านั้นมาก แต่ว่าถ้าจะคุยเรื่อง ‘สูท’ อาจต้องใช้เวลาอีกทั้งวัน ฉะนั้นเอาไว้ก่อน) ก็มาจากเครื่องแต่งกายทหาร 

Photo By Maxine Davies, Courtesy of Defence Imagery

เรื่องเล่ามีอยู่ว่าในปี 1837 ราชินีวิกตอเรียทรงเข้าเยี่ยมเยียนเรือรบหลวงลำหนึ่ง ผู้บังคับบัญชาเรือสั่งทำเครื่องแบบใหม่ ประดับแจ็กเก็ตกระดุม 2 แถวสีน้ำเงิน Navy ด้วยกระดุมสีทอง เพื่อยกระดับเครื่องแต่งกายให้แก่ลูกเรือ  หลังการเยี่ยมเยียน พระราชินีก็ให้เครื่องแบบดังกล่าวกลายเป็นเครื่องแบบของนาวิกโยทินอังกฤษทั้งหมดทันที 

เรือรบหลวงดังกล่าวชื่อว่า HMS Blazer และนั่นคือที่มาของแจ็กเก็ต Blazer กระดุม 2 แถว (ที่ต้องระบุไว้แบบนั้นเนื่องจากเพราะ Blazer กระดุมแถวเดียวมาจากอีกเรื่องเล่าหนึ่ง แต่ชื่อเดียวกันโดยบังเอิญ) 

นอกจากเรื่องของชิ้นเสื้อผ้า ยังมีเรื่องของวัสดุและการออกแบบเพื่อการใช้งานอีกด้วย สงครามคือสถานการณ์เลวร้ายสำหรับทุกคน และสถานการณ์เลวร้ายมักนำพามาซึ่งการการประดิษฐ์คิดค้นใหม่ๆ ตัวอย่างเช่นผ้าชิโนที่เราใส่อยู่ทุกวันนี้เริ่มขึ้นจากการคิดหาวัสดุการตัดเย็บที่สวมใส่สบายและเข้ากับพื้นที่ที่ทหารประจำการอยู่ ในกรณีนี้คือทหารอังกฤษในอินเดีย ผ้าฝ้ายสีน้ำตาลทะเลทรายจึงตอบโจทย์การใช้งานนั้นเป็นอย่างดี 

บางอย่างที่มีอยู่แล้วในโลกเช่นนาฬิกาก็เปลี่ยนแปลงไปเพราะสงคราม ในอดีตนาฬิกาข้อมือมีไว้สำหรับผู้หญิง ส่วนผู้ชายใช้นาฬิกาพก แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 มาถึง ทหารผู้ชายต้องใช้นาฬิกาข้อมือในการวางแผนโจมตีพร้อมกัน ทำให้การสวมนาฬิกาเชื่อมโยงกับความเป็นชายไปโดยปริยาย 

ชุดสูท เสื้อกันหนาวพาร์กา หรือแม้แต่เสื้อยืดนั้นล้วนมีที่มาจากเครื่องแต่งกายทหาร แม้บางชิ้นดูเหมือนจะไม่ใช่ก็ตาม เมื่อรู้อย่างนั้นแล้วเรายังสบายใจที่จะสวมใส่มันอยู่หรือไม่? การที่เราเป็นคนไม่สนับสนุนสงครามแล้วจะหยิบเสื้อผ้าชิ้นต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับสงครามมาใส่สร้างความกระอักกระอ่วนใจหรือเปล่า? 

Photo by Merja Wesander, Courtesy of Helsinki City Museum 

เราอยากใช้พื้นที่ตรงนี้ในการพูดคุยเกี่ยวกับวิวัฒนาการของเสื้อผ้าและความหมายของพวกมัน แน่นอน จุดเริ่มต้นของชิ้นเสื้อผ้าเหล่านี้มีเลือดเปื้อนอยู่ แต่เมื่อถึงเวลาหนึ่งที่มีนักออกแบบหยิบจับพวกมันมาใช้งาน ความหมายของพวกมันก็เปลี่ยนไปเช่นกัน เสื้อ Bomber Jacket ถูกตีความใหม่ให้เป็น Varsity Jacket เครื่องหมายแห่งการศึกษา ไม่ใช่สงครามอีกต่อไป รองเท้าทหารถูกชาวพังก์หยิบมาสวม บิดความหมายของมันจากความรุนแรงและกดทับของสงคราม ให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของไฟอันร้อนเร่าของขบถ 

มีความหมายมากมายพรางตัวอยู่ในแฟชั่น อย่างไรก็ตาม ความหมายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งตายตัว เรามอบความหมายให้แก่สิ่งที่เราสวม มากพอๆ กันกับที่มันมอบความหมายให้แก่เรา

อ้างอิง: adidas.com, wsj.com, brooksbrothers.mc

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The Legacy of Military Style: ทำไมสไตล์ทหารถึงไม่เคยตายและอยู่รอดในวงการแฟชั่นเสมอมา

เรียบเฉยแต่ดุดัน ทั่วไปแต่ขบถ ความหมายที่หลากหลายเบื้องหลัง ‘เสื้อยืดขาว’

ให้ความหวังและศิลปะงอกเงย แม้อยู่ใต้เงาของสงคราม การกลับมาของ 'Ukrainian Fashion Week 2024'

ตามข่าวก่อนใครได้ที่

Website : https://plus.thairath.co.th

Facebook : Thairath Plus

2024-09-18T12:58:58Z dg43tfdfdgfd