เทศกาลกินเจ : ไปไหว้พระ ฝากดวงกับทวยเทพที่ศาลเจ้าให้คุ้มครองอะไรได้บ้าง

พื้นที่ความเชื่อ ศรัทธา และพิธีกรรม นอกจากมีอยู่ในศาสนสถานอื่นๆ ยังมีอยู่ในวัดจีนและศาลเจ้า ซึ่งในช่วงเทศกาลกินเจ คนที่ละเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์จะมากราบไหว้ อธิษฐาน ขอพร ขอโชคลาภ ความร่ำรวย เนื้อคู่ และเรื่องดีๆ เพื่อเป็นสิริมงคลในชีวิต

และต้องทำความเข้าใจก่อนว่า วัดจีนและศาลเจ้า แม้จะมีความเกี่ยวพันกับพุทธมหายาน (นิกายที่มีแนวคิดเรื่องการบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์ ช่วยเหลือสรรพชีวิตในโลกให้พ้นทุกข์) แต่มีความแตกต่างกัน 

ถ้าเป็นวัดจีนจะมีนักบวชจำพรรษา แต่ถ้าเป็นศาลเจ้าจะมีเพียงผู้ดูแลศาลเจ้า ไม่มีนักบวชประจำวัด โดยศาลเจ้าจะมีความสัมพันธ์กับเทพเจ้าในลัทธิเต๋าและความเชื่อพื้นบ้านของจีน 

ในกรุงเทพฯ มีศาลเจ้าให้เคารพสักการะจำนวนหลักร้อย ส่วนวัดจีนมีเพียงหลักสิบ และมีโรงเจเพียงไม่กี่แห่ง ส่วนเขตที่มีศาลเจ้าจำนวนมากที่สุดเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นย่านคนจีนแถวเยาวราช 

ส่วนใหญ่ศาลเจ้าจะสร้างขึ้นตามความเชื่อ ศรัทธาของคนจีนโพนทะเลที่อพยพมาอยู่เมืองไทย รวมถึงคนจีนที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับคนไทยก่อนสมัยสุโขทัยเรื่อยมาถึงสมัยอยุธยา กรุงรัตนโกสินทร์ และปัจจุบัน จึงมีการผสมผสานทั้งความเชื่อและวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่นเข้าด้วยกัน

ในยุคแรกๆ ศาลเจ้าเป็นเพียงเพิงไม้ เมื่อมีการใช้งานอย่างต่อเนื่อง ด้วยความเชื่อและศรัทธา จึงมีการบูรณะปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยของคนยุคนั้น โดยรูปเคารพองค์เทพเจ้าที่ชาวจีนในไทยนับถือ ยังเป็นไปตามแบบแผนและคติความเชื่อดั้งเดิมที่มีต่อเทพอารักษ์ประจำกลุ่มของชาวจีน 

 
  • ทวยเทพผู้คุ้มครอง

เพื่อเป็นการสืบทอดความคิดด้านคติความเชื่อ และธำรงไว้ซึ่งความเป็นจีนในสังคมไทยให้มีความยั่งยืน ธรรมเนียมการปฏิบัติในศาลเจ้า ไม่ว่าการไหว้เจ้า จุดธูป จุดประทัด อาหารที่นำมาถวาย รวมถึงการเผากระดาษเงิน กระดาษทอง ยังถือปฏิบัติสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

ข้อมูลจากบทความ: ศรัทธาสถานในสังคมไทยโดย เจษฎา นิลสงวนเดชะ กล่าวไว้ว่า “มีคนจีนที่ไหน ต้องมีศาลเจ้าที่นั่น” แสดงให้เห็นว่าศาลเจ้าจีนมีบทบาทเป็นศาสนสถานที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ

และเป็นสถานที่เชื่อมเกี่ยวความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้า จึงเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดการก่อสร้างศาลเจ้าในรูปแบบอาคารสถาปัตยกรรมจีนขึ้น เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมการบูชาเทพเจ้าของชาวจีน

ว่ากันว่า ศาลเจ้าจีนในปัจจุบันมีการสร้างขึ้นใหม่ในพื้นที่ของวัดพุทธเถรวาท เพื่อตอบสนองความต้องการของพุทธศาสนิกชนในสังคม ที่มีความต้องการอยากจะไหว้พร ะและไหว้เจ้าเบ็ดเสร็จที่เดียว 

ประกอบกับคนส่วนใหญ่ยังนิยมมาแก้ปีชงตามแบบพิธีของศาลเจ้าจีน ทั้งไหว้สะเดาะเคราะห์ ไหว้เทพเจ้าไท่ส่วยเอี้ย ซึ่งจัดเป็นเทพดวงดาวประจำปีที่โคจรมาดูแลชะตาชีวิตในแต่ละปี

ผู้ใดเกิดปีนักษัตรตรงข้ามกับนักษัตรปีนั้น เรียกว่า “ปีชง” อาจมีเคราะห์ร้าย มีอุบัติเหตุ มีปากเสียงทะเลาะเบาะแว้ง ทรัพย์สินรั่วไหล ก็จะนิยมมาทำพิธีสะเดาะเคราะห์ หรือแก้ปีชง ฝากดวงชะตาไว้ที่วัดนั้น 

โดยจะต้องเขียนชื่อและวันเดือนปีเกิดลงบนแผ่นกระดาษ แล้วฝากไว้ที่วัด หรือที่เรียกว่า การฝากดวง แล้วนำไปไหว้ อธิษฐานขอให้เทพคุ้มครองให้พ้นจากอันตราย โดยนำชุดไหว้ปัดตัว 12 ครั้ง และนำชุดไหว้วางไว้หน้าองค์ไท่ส่วยเอี๊ย ปลายปีทางวัดจะทำพิธีเผาชุดไหว้พร้อมกัน

  • ศาลเจ้าจีนในกรุงเทพฯ

ศาลเจ้าจีนในกรุงเทพฯ ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม และกรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไว้ในพระราชกิจจานุเบกษา มีทั้งสิ้น 3 แห่ง คือ ศาลเจ้าพ่อเสือ ถนนตะนาว เขตพระนคร ,ศาลเจ้าแม่ทับทิม ถนนจักรเพชร และศาลเจ้ากวางตุ้ง ถนนเจริญกรุง

ส่วนศาลเจ้าในกรุงเทพฯ ที่คนนิยมมากราบไหว้ทุกเทศกาล มีหลายแห่งด้วยกัน ยกตัวอย่าง ศาลเจ้าโจวซือกง ย่านตลาดน้อย เป็นศาลเจ้าที่ชาวจีนฮกเกี้ยนนับถือมาก ส่วนใหญ่มาขอพรคุ้มครองสุขภาพและเป็นสิริมงคล

ศาลเจ้าแห่งนี้อายุกว่า200 ปี สร้างในสมัยรัชกาลที่1 โดยเศรษฐีชาวจีนฮกเกี้ยน ที่เข้ามาพึ่งพิงพระบรมโพธิสมภารเปิดโรงเผาถ่าน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านตลาดน้อย นำเทพเจ้าที่นับถือมาจากเมืองจีน และสร้างศาลเจ้าให้ท่านประทับ

ศาลเจ้าโจวซือกง (วัดซุนเล่งยี่) สร้างในปีพ.ศ.2347 เพื่อเป็นที่ประดิษฐานของเทพเจ้าโจวซือกง และเทพเจ้าองค์อื่น ๆ ที่ชาวจีนให้ความเคารพนับถือ อาทิ เจ้าพ่อกวนอู เจ้าแม่ทับทิม เจ้าพ่อเสือ เทพเจ้า 36 องค์ เทพเจ้าฟ้าดิน ตี่จู้เอียะ ฯลฯ 

นอกจากนี้ช่วงเทศกาลกินเจ คนส่วนใหญ่นิยมมากราบไหว้ ขอพรกับทวยเทพวัดเล่งเน่ยยี่ ซึ่งเป็นสังฆารามตามลัทธินิกายมหายานที่มีศิลปะงดงามและใหญ่ที่สุดในเยาวราช 

รวมถึงเป็นวัดที่ได้รับพระราชทานชื่ออย่างเป็นทางการจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นวัดที่คนไทยเชื้อสายจีนจะต้องแวะมาไหว้พระ ขอพร 

วัดแห่งนี้ยังคงอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดั้งเดิมไว้อย่างดี เนื่องจากเจ้าอาวาสที่มรณภาพไปเมื่อปี 2558 เป็นคนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมจีนตอนใต้ของสกุลช่างแต้จิ๋ว

กว่าจะก่อสร้างเสร็จใช้เวลากว่า 8 ปี มีการวางแปลนตามแบบวัดหลวง คือ มีวิหารท้าวจตุโลกบาลเป็นวิหารแรก ตรงกลางเป็นพระอุโบสถ ข้างหลังพระอุโบสถเป็นวิหารเทพเจ้า

ส่วนกลางเป็นพระอุโบสถประดิษฐานเหล่าทวยเทพและเทพพระประธาน 3 องค์ คือ 

  • 1.พระไภษัชยคุรุพระพุทธเจ้าหรือ “เอี๊ยะซือฮุก” ผู้เป็นครูและผู้รักษาโรค 
  • 2.พระศรีศากยมุนีพุทธเจ้าหรือ “พระโคดมพุทธเจ้า” ผู้ทรงตรัสรู้ความจริงอันประเสริฐ
  • 3.พระอมิตพุทธเจ้า เชื่อกันว่าท่านจะนำดวงวิญญาณของผู้บูชาไปเกิดในดินแดนสุขาวดี

ส่วนด้านหลังเป็นวิหารบูรพาจารย์ วิหารพระอวโลกิเตศวร (กวนอิม โพธิสัตว์) และวิหารเทพเจ้า เช่น เทพเจ้ากวนอู พระเพลิง เทพโชคลาภ เทพเจ้าเซียนซือกง (หมดฮั่วท้อเซียนซือ) เทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตาชีวิต (ไท้ส่วยเอี้ย)

วัดแห่งนี้มีเทพหลายองค์ ทั้งเทพเจ้าแห่งยาหรือหมอเทวดา “หั่วท้อเซียงซือกง” ,เทพเจ้าแห่งโชคลาภ “ไฉ่ซิ้งเอี๊ยะ” เทพเจ้าเฮ่งเจีย หรือ “ไต่เสี่ยหุกโจ้ว”รวมเทพเจ้าในวัด รวมๆ 58 องค์

เนื่องจากเป็นวัดที่เป็นศูนย์กลางพุทธมหายานของคณะสงฆ์จีนนิกายในประเทศไทย มีความเก่าแก่และมีประวัติยาวนาน และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนนิยมมาสักการะบูชาทวยเทพเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

2024-10-01T06:32:36Z dg43tfdfdgfd