Instagram เป็นโซเชียลมีเดียที่เคยมีภาพจำว่าเป็นพื้นที่แห่งการอวดความสมบูรณ์แบบของชีวิต ผลการวิจัยมากมายเล่าว่ามันสร้างความรู้สึกแง่ลบให้ผู้ใช้จำนวนมาก และการใช้ IG ก็เคยถูกโยงกับความไม่พึงพอใจในร่างกายของตัวเอง โดยงานวิจัยมักบอกว่ามันเกิดขึ้นจากการที่คนทั่วๆ ไปเทียบตัวเองเข้าภาพชีวิตของดาราหรืออินฟลูเอนเซอร์ที่รวยกว่า สวยงามกว่า หรือผู้ที่ใช้ชีวิตผ่านการตกแต่งจัดแจงมากกว่า
แต่อยู่มาวันหนึ่งกลับมีบางอย่างเปลี่ยนแปลงไป เราเห็นดาราที่มักฝังตัวเองไว้ใต้ฟิลเตอร์ และการเซ็ตถ่ายอย่างหนักหน่วง เช่น คิม คาร์เดเชียน ก็ตัดเลี่ยนเปลี่ยนสไตล์มาลงรูปตัวเองในสภาพเผลอๆ และไม่แต่งหน้าอยู่ที่ริมหาดทราย หรือป๊อปสตาร์รุ่นใหม่หลายๆ คนเช่น ดัว ลิปา หรือ โอลิเวีย ร็อดริโก ก็ลงรูปตัวเองหน้าเหวอ สลับกับเรื่องจิปาถะมั่วๆ ที่พวกเธอพบเจอในชีวิตประจำวัน
อยู่มาวันหนึ่งคำว่า ‘คุมโทน’ ก็หลุดลอยหายไปจากคลังคำศัพท์ของเราหลายๆ คน แทนที่ด้วยภาพเจ้าเหมียวที่เจอระหว่างเดินไปทำงาน ภาพหนังสือที่ซื้อมาใหม่ ไฟแช็กหน้าตาแปลกประหลาดในร้านชำรกๆ หรือป้ายข้างทางตลกๆ ทั้งหมดอยู่ในโพสต์เดียวโดยไม่มีธีมผูกมันเข้าไว้ด้วยกัน พร้อมประดับด้วยแคปชั่นสบายๆ ว่า ‘september 😌’
เราเรียกการโพสต์บันทึกทุกสิ่งอย่างโดยไร้การคุมโทนนี้ว่า ‘Photo Dumping’ หรือที่แปลตรงตัวว่าการเทโละรูป ปรากฏการณ์การโพสต์รูปที่มักมีลักษณะ ‘ตามใจฉัน’ นี้ ในมุมหนึ่งก็อาจตรงไปตรงมาตามชื่อของมัน แต่เมื่อพูดถึงโซเชียลมีเดียแล้ว มันย่อมมีความหมายแฝงอยู่ เพราะในปัจจุบันมนุษย์ผูกติดตัวตนอยู่ในโลกดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ
โซเชียลมีเดียไม่ใช่เพียงช่องทางการสื่อสาร แต่เป็นพื้นที่แสดงตัวตนของเราด้วย เราโพสต์เพลงที่เราฟัง หนังที่เราดู หนังสือที่เราอ่าน บทความที่เราเจอให้เพื่อนของเราเห็น เพื่อให้พวกเขาสามารถปะติดปะต่อรสนิยมของเราได้ รูปที่เราโพสต์ก็เป็นมากกว่ารูปที่เราชอบ แต่เป็นรูปที่เราคิดว่า ‘ดีพอที่จะนำเสนอตัวตนของเรา’
และเพราะธรรมชาติของโซเชียลมีเดียที่เอาคนหลายล้านคนในโลกมารวมไว้ในระนาบเดียวกัน การเปรียบเทียบย่อมเกิดขึ้น และมาตรฐานของคำว่า ‘ดีพอ’ ก็สูงลิ่วขึ้นไปเรื่อยๆ จากการเปรียบเทียบนั้น
ตรงนี้เองอาจเป็นที่ที่ Photo Dump ถือกำเนิดขึ้น เช่นเดียวกับเกือบทุกเทรนด์ มันเกิดจากการการตีกลับต่อสถานการณ์ปัจจุบัน (Status Quo) ของพื้นที่พื้นที่หนึ่ง ในกรณีนี้คือมันเป็นกระแสตีกลับความ ‘ประดิดประดอย’ ที่กลายเป็นมาตรฐานของ Instagram
หากจะให้ยกตัวอย่าง เราสามารถมองไปยังคำพูดเช่น ‘Instagrammable’ ที่เป็นคำเรียกของอะไรบางอย่างที่ ‘ควรค่าพอ’ ที่เราจะถ่ายลงในโปรไฟล์ของเรา หรือ ‘Instagram Face’ ที่พูดถึงพิมพ์ใบหน้าสำหรับ ‘คนดังใน IG’ ปากกระจับ ตาเฉี่ยว ผิวแทน ไร้ริ้วรอยตั้งแต่หัวจรดเท้า
แม้ว่าจะไม่ใช่สิ่งที่มีใครบอกให้ทำตาม แต่มาตรฐานเหล่านี้เป็นเหมือนเงาคอยสะกิดเรา โดยเฉพาะเมื่อเราใช้เวลาราวๆ 7 ชั่วโมงต่อวันบนโทรศัพท์ มนุษย์เป็นเหยื่อความกดดันทางสังคมเสมอ และแม้จะมาอยู่ในโลกออนไลน์แล้ว เราก็ยังกลัวจะถูกโลกทิ้งไว้ข้างหลังอยู่ดี จนมีสิ่งที่เรียกว่าโรคกลัวการตกกระแส (Fear Of Missing Out/FOMO) เกิดขึ้น
ในแง่หนึ่ง การทำ Photo Dump เป็นดั่งการประกาศว่า ไม่ ฉันจะไม่ยอมให้แรงกดดันนั้นมีผลกับฉัน ฉันจะไม่ประดิษฐ์ตัวเองให้เป็นแบบที่ใครเขาเป็น ไม่สมบูรณ์แบบอย่างที่ Instagram คาดหวัง และฉันจะใช้พื้นที่นี้ฉายภาพชีวิตประจำวันของฉันอย่างจริงใจและเรียลที่สุดเท่าที่ทำได้
การทำ Photo Dump เองก็ยังสามารถนับเป็นการอวดรูปแบบหนึ่งอยู่ เพียงแต่เราแทนที่การอวดความสมบูรณ์ ด้วยการอวดรสนิยม อวดเรื่องแปลกๆ อวดประสบการณ์ที่เราได้ประสบพบเจอในชีวิตของเรา และเราอวดมันทั้งหมดนั้นอย่างสบายๆ ไม่ขอให้ใครมาเข้าใจ
อ้างอิง: researchgate.net, statista.com
ตามข่าวก่อนใครได้ที่
Website : https://plus.thairath.co.th
Facebook : Thairath Plus
2024-09-30T12:49:11Z dg43tfdfdgfd