แม้ประเทศจีนจะเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ แต่ภายหลังโควิด-19 เป็นต้นมาจีนต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนักและมีแนวโน้มจะฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาด ซึ่งนั่นย่อมส่งผลกระทบกับสภาวะการเงินของประชาชนในประเทศจีน
ผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนคือ ปัจจุบันวัยรุ่นชาวจีนต้องประหยัดมากขึ้นและลดค่าใช้จ่ายที่ต้องลงทุนระยะยาว ทำให้พวกเขาเลือกที่จะไม่แต่งงาน ไม่ซื้อที่อยู่อาศัย หรือไม่ออมเงินแล้ว แต่เลือกใช้จ่ายเฉพาะสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตและจิตใจมากกว่า
จากรายงานของ Youth Lifestyles ปี 2024 ในนิตยสาร China Newsweek ซึ่งเผยแพร่เมื่อปลายสิงหาคม พบว่าจากกลุ่มผู้ทำแบบสอบถามจำนวน 7,725 คนทั่วประเทศจีนที่มีอายุระหว่าง 16-40 ปี เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ระบุว่าไม่มีแผนจะซื้อบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ในปีนี้ และเลือกใช้เงินเฉพาะสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น ในขณะที่มีวัยรุ่นชาวจีนเพียง 7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่คิดจะซื้อหรือมีแผนจะซื้อบ้าน
สาเหตุเป็นเพราะคนจีนส่วนใหญ่พบว่ารายได้ของพวกเขามีจำนวนเงินเท่าเดิมหรือลดลงในปีนี้ ทำให้พวกเขาเลิกซื้อของฟุ่มเฟือย อย่าง สินค้าแบรนด์เนม และหันมาซื้อของจำเป็นแทน เช่น ของลดราคาหรือซื้ออะไรก็ได้ที่ทำให้พวกเขาอารมณ์ดี
“ปกติฉันอาศัยอยู่กับพ่อแม่ ฉันจึงไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าเช่า และตอนนี้ฉันก็โสด ฉันจึงไม่มีแผนที่จะแต่งงานหรือซื้อที่อยู่อาศัย” เทอร์รี หวง (Terry Huang) วัย 30 ปี กล่าว
อย่างไรก็ตาม เทอร์รีและเพื่อนร่วมงานวัย 32 ปีได้ใช้เงินไปประมาณ 1,000 หยวน (4,593 บาท) เพื่อเข้าร่วมคอนเสิร์ต 3 ครั้งในปีนี้ นอกจากนี้พวกเขายังใช้จ่ายไปกับการท่องเที่ยว คนละ 4,000 หยวน (18,372 บาท)
“เงินที่ฉันหาได้มันพอสำหรับค่าใช้จ่ายเหล่านั้น และฉันเก็บออมเงินไม่ได้มากนักในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา” เทอร์รีทิ้งท้าย
สำหรับการออมเงินของวัยรุ่นชาวจีน จากการสำรวจพบว่า วัยรุ่นชาวจีนกว่า 17.6 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีเงินออมเลย และ 55.5 เปอร์เซ็นต์ มีเงินออมต่ำกว่า 200,000 หยวน (918,347 บาท) ส่วนค่าครองชีพเฉลี่ยต่อเดือนมีคนส่วนใหญ่กว่า 78.8 เปอร์เซ็นต์ ใช้จ่ายน้อยกว่า 5,000 หยวน (22,954 บาท) ในขณะที่อีก 4.3 เปอร์เซ็นต์ ใช้จ่ายเกิน 10,000 หยวน (45,895 บาท)
รายจ่ายส่วนใหญ่ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า พวกเขาใช้จ่ายกับค่าอาหารและเครื่องดื่มมากที่สุด รองลงมาคือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการท่องเที่ยว คอร์สเรียนฝึกฝนต่างๆ บัตรเข้าชมการแสดงหรือนิทรรศการ และค่ารักษาทางการแพทย์เพื่อสุขภาพ
โดยมีคน 37.1 เปอร์เซ็นต์ระบุว่าพวกเขาเต็มใจที่จะใช้จ่ายกับค่าอาหารหรือสินค้าอุปโภคบริโภคมากขึ้น ส่วนอีก 45.8 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าจะลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า และการดูแลความงามหรือการศัลยกรรม
“ฉันเป็นคนชอบออกกำลังกายและฝันว่าจะเป็นครูสอนออกกำลังกายด้วย รายได้ส่วนใหญ่ของฉันจึงไปใช้กับการออกกำลังมากกว่า เพราะมันทำให้ฉันรู้สึกกระฉับกระเฉง ฉันจึงเลือกลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ลง เช่น สินค้าหรูหราและเครื่องสำอางแทน” หวาง จิงอี้ (Wang Jingyi) อาชีพบาริสต้า วัย 21 ปี
เดวิด หว่อง (David Wong) อาจารย์ประจำภาควิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยฮังเส็ง ฮ่องกง (Hang Seng University of Hong Kong) กล่าวว่า ผลการสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติและแนวโน้มการบริโภคของชาวจีนรุ่นใหม่ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวได้ยากขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนในต่างประเทศของจีนด้วย
“ด้วยรายได้ที่ต่ำและการไม่มีเสถียรภาพในการจ้างงาน ทำให้คนหนุ่มสาวเลือกจะไม่ลงทุนระยะยาวหรือบริโภคในปริมาณมาก และจะเลือกใช้เงินมากขึ้นสำหรับค่าครองชีพพื้นฐานและการบริโภคเพื่อความบันเทิง” เดวิดกล่าว
นอกจากรายได้ที่ไม่มีท่าทีที่จะเพิ่มขึ้นแถมอาจจะลดลงไปอีก อัตราการว่างงานก็ยังเพิ่มขึ้นอีกเช่นกัน โดยอัตราว่างงานของชาวจีนอายุ 16-24 ปี (ไม่รวมนักศึกษา) เมื่อเดือนสิงหาคมยังเพิ่มขึ้นเป็น 18.8 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอัตราการว่างงานของกลุ่มอายุ 25-29 ปี (ไม่รวมนักศึกษา) ในเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้นเป็น 6.9 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเดือนสิงหาคมเป็นเดือนแรกที่มีสถิติบัณฑิตจบใหม่จากมหาวิทยาลัยสูงสุดจำนวน 11.79 ล้านคนเข้าสู่ตลาดแรงงานจีน ทำให้โอกาสในการได้งานยากขึ้น
ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ประเทศจีนกำลังจะใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินสดอีกรอบหนึ่งให้กับกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้ความช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน เนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปี การก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน หลังจากก่อนหน้านี้แจกเงินช่วยเหลือในเดือนพฤศจิกายน 2566 ไปจำนวนกว่า 40.4 ล้านคน โดยเฉลี่ย 779 หยวน (3,583 บาท) ต่อคนต่อเดือน
เนื่องจากช่วงวันชาติจีนจะเป็นช่วงวันหยุดยาวทำให้ประชาชนชาวจีนออกมาจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น
มาร์วิน เฉิน (Marvin Chen) นักยุทธศาสตร์หุ้นของ Bloomberg Intelligence ให้ความเห็นว่า
“การแจกเงินสดก่อนวันหยุดประจำชาติ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลาง มีการดำเนินนโยบายเชิงรุกมากขึ้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งอาจช่วยให้การบริโภคของชาวจีนดีขึ้นในอนาคต”
อย่างไรก็ตาม ปัญหาอัตราการว่างงานที่สูงขึ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซายังเป็นปัญหาที่ประเทศจีนต้องแก้ไขในระยะยาว รวมไปถึงคนรุ่นใหม่ที่เลือกไม่แต่งงานหรือสร้างครอบครัวก็อาจส่งผลต่อจำนวนประชากรในอนาคตข้างหน้าอย่างแน่นอน
อ้างอิง : scmp.com , moneyandbanking.co.th , cnbc.com , thairath.co.th
ทำไมวัยรุ่นจีน ไม่แต่งงาน ไม่ซื้อบ้าน ไม่ออมเงินกันแล้ว?
"เรามีค่าแค่ไหน" เสียงของหญิงชาวจีน หลังรัฐผ่านกฎหมายลูกสามคน
“ฉันไม่สน ฉันอยากนอน” การต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วยการไม่ทำอะไรเลย
ตามข่าวก่อนใครได้ที่
Website : https://plus.thairath.co.th
Facebook : Thairath Plus
2024-10-01T04:49:27Z dg43tfdfdgfd