ทำความรู้จักฉลามสายพันธุ์ใหม่จากใต้ทะเลลึกที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบอย่างต่อเนื่อง

มีการค้นพบฉลามสายพันธุ์ใหม่มากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมนุษย์ค้นหาลึกลงไปในมหาสมุทร

ความลึกลับของพวกมันเริ่มต้นขึ้นจากไข่ ในปี 1989 นักวิทยาศาสตร์ในออสเตรเลียพบสิ่งต้องสงสัยเป็น “กระเป๋านางเงือก (mermaid's purse)” ซึ่งเป็นกล่องไข่ปลาที่หุ้มด้วยหนัง เนื่องจากฉลามบางชนิดเลือกจะวางไข่ แทนที่จะให้กำเนิดลูก และกล่องไข่ที่ว่างเปล่าอันนี้ก็มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร นั่นคือ มีแถบสันที่โดดเด่นบริเวณด้านบน

ไข่ดังกล่าวถูกพบที่พื้นที่โรว์ลีย์ โชลส์ (Rowley Shoals) ซึ่งเป็นกลุ่มปะการังบนขอบไหล่ทวีปในทะเลติมอร์ตะวันออก ห่างจากชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลียไม่กี่ร้อยกิโลเมตร ทว่า มันกลับจุดประกายให้เกิดคำถามมากกว่าเสนอคำตอบ เช่น ตัวที่วางไข่คืออะไร พวกมันอาศัยอยู่ที่ไหน และทำไมกล่องไข่ของพวกมันถึงมีลักษณะโดดเด่นยิ่งนัก

ต้องใช้เวลานานกว่า 30 ปี กว่าที่นักวิทยาศาสตร์จะค้นพบคำตอบของคำถามพื้นฐานเหล่านี้ และระหว่างที่ทำเช่นนั้น พวกเขาก็ค้นพบฉลามสายพันธุ์ใหม่ ๆ อีกด้วย

ตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านของศตวรรษที่ 21 มนุษยชาติพยายามค้นหาสายพันธุ์ใหม่ของนักล่าที่น่าประทับใจที่สุดในท้องทะเล โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ราวกลางทศวรรษที่ 1980 นักวิทยาศาสตร์ค้นพบแหล่งตั้งถิ่นฐานของฉลามประมาณ 360 สายพันธุ์ นับตั้งแต่ฉลามโคมไฟแคระ (dwarf lanternshark) ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลลึกขนาดเล็กเพียง 20 เซนติเมตร ไปจนถึงฉลามวาฬ (whale shark) ซึ่งกินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร และมีขนาดมหึมาที่สุดในมหาสมุทร

แต่ในเวลาเพียง 40 กว่าปี ตัวเลขเหล่านี้ก็เพิ่มขึ้นเกือบ 70% ขณะนี้มีมากกว่า 500 สายพันธุ์ที่เป็นที่รู้จัก และจำนวนสายพันธุ์ใหม่ ๆ ก็ไม่มีวี่แววว่าจะลดลง โดยล่าสุดในเดือน ก.ย. 2024 มีการค้นพบสายพันธุ์ใหม่ของฉลามผี (ghost shark) ซึ่งเป็นปลากระดูกอ่อนดึกดำบรรพ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับฉลามอย่างใกล้ชิด โดยมันถูกตกขึ้นมาได้จากส่วนลึกของมหาสมุทรนอกชายฝั่งตะวันออกของนิวซีแลนด์

คลื่นแห่งการค้นพบครั้งใหม่นี้เทียบเคียงได้กับยุคทองของการสำรวจ มันเป็นผลพลอยได้จากการทำงานอย่างอุตสาหะในหอจดหมายเหตุของพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ รวมถึงความพยายามอย่างมากในการสำรวจน้ำลึกของมหาสมุทรต่าง ๆ ทั่วโลก

ยกตัวอย่างเช่นการค้นพบฉลามที่วางกล่องไข่ลึกลับนั้น วิลล์ ไวท์ ภัณฑารักษ์อาวุโสประจำสถานรวบรวมพันธุ์ปลาแห่งชาติออสเตรเลีย ภายใต้องค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมของเครือจักรภพ (CSIRO) ในเมืองโฮบาร์ต ออสเตรเลีย คือส่วนหนึ่งของทีมที่ช่วยเชื่อมโยงจุดต่าง ๆ หลังจากกล่องไข่ถูกค้นพบที่โรว์ลีย์ โชลส์ ถูกนำส่งมาเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์ และไม่มีใครสนใจมาพิจารณาสันหนามแปลก ๆ ของมันอีกเลย

ในปี 2011 นักวิจัยชื่อ เบร็ทต์ ฮิวแมน กำลังเป็นอาสาสมัครที่พิพิธภัณฑ์เวสเทิร์นออสเตรเลียในเมืองเพิร์ธ และได้เจอกับกล่องไข่ปลาฉลามซึ่งมีลักษณะเป็นสันริ้ว แม้มันดูคล้ายกับไข่ที่วางโดยฉลามสายพันธุ์อื่น แต่สัตว์ชนิดนั้นไม่เคยถูกค้นพบในน่านน้ำออสเตรเลียมาก่อน ฮิวแมนจึงเชื่อมโยงกล่องไข่ปลาดังกล่าวไปยังไข่อื่น ๆ ที่ถูกพบในออสเตรเลีย จนสามารถจำกัดวงสายพันธุ์ให้แคบลงได้ว่ามันอาจเป็นสมาชิกของตระกูลฉลามกบ (catshark) แต่เขาไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเป็นสายพันธุ์ใด

“ในตอนแรกเขาหาคำอธิบายเกี่ยวกับกรณีนี้และพยายามได้ดีมากสำหรับการจำกัดวงให้แคบลง... เขาทำได้ดีกว่าที่คนจำนวนมากจะทำได้ จริง ๆ แล้ว” ไวท์กล่าว “ไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับไข่เหล่านั้นเลย จนกระทั่งพวกเราเริ่มหันมาพิจารณามันอย่างจริงจังร่วมกับเฮเลน โอนีล เพื่อนร่วมงาน ถึงตอนนั้นผมยังคิดว่าตนเองกำลังมะงุมมะงาหราผิดที่ มันมีเหตุผลอยู่ว่าทำไมจึงไม่เคยมีใครทำสำเร็จมาก่อน”

กลายเป็นว่าในเวลาต่อมาทางองค์การ CSIRO ยังส่งตัวอย่างไข่มาอีกครั้งในช่วงทศวรรษ 1980 แต่ไม่มีใครทำการศึกษาเพิ่มเติม “มันไม่เกิดอะไรขึ้นเลยจนกระทั่งผมเริ่มดูข้อมูลที่ถูกรวบรวมไว้ และเริ่มตระหนักว่าข้อมูลเหล่านี้มาจากการสำรวจเดียวกัน จากสถานที่เดียวกัน และในห้วงวันเดียวกัน”

ไวท์และเพื่อนร่วมงานของเขาทราบทันทีว่า ไข่ที่กู้คืนมาได้ในช่วงทศวรรษ 1980 นั้นมาจากความลึกระหว่าง 410-504 เมตร และพวกเขาเริ่มมองหาฉลามที่ถูกจับได้จากความลึกระดับเดียวกัน

สิ่งที่ CSRIO รวบรวมไว้มีตั้งแต่ฉลามกบจีนตอนใต้ (South China catshark) ซึ่งปรากฏว่ามันกำลังตั้งท้องอยู่ขณะที่ถูกจับ นักวิทยาศาสตร์จึงผ่าและพบตัวอ่อนที่กำลังพัฒนาอยู่ภายในกล่องไข่ที่มีสันยาวด้านนอกเหมือนกันกับกล่องไข่ที่พบเมื่อหลายปีก่อนที่โรว์ลีย์ โชลส์ งานนักสืบเช่นนี้พิสูจน์ให้เห็นว่ามันคือสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยถูกค้นพบมาก่อน และเป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์ด้านฉลามในออสเตรเลียสามารถไขปริศนาอันลึกลับกว่า 30 ปีนี้ได้

“เราใช้เวลาทำงานประมาณ 2 วันในการไขปริศนา” ไวท์ กล่าว “ประเด็นคือคุณต้องหาสิ่งที่เฉพาะเจาะจงของมัน เพราะตัวโตเต็มวัยของปลากลุ่มนี้มีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย”

สัตว์ชนิดนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์แล้ว (ส่วนชื่อสามัญจะตามมาภายหลัง) และได้รับการเปิดเผยในวารสารฟิชไบโอโลจี (Fish Biology) เมื่อเดือน เม.ย. 2023

ฉลามกบที่ดูน่ากลัวนี้ยังรู้จักในอีกชื่อว่า Apristurus ovicorrugatus คาดว่าแหล่งของมันอยู่บริเวณใต้ผิวน้ำประมาณ 700 เมตร และวางไข่ในปะการังที่ลึกเกินกว่าแสงแดดจะส่องผ่านถึงได้ ไวท์บอกว่า แม้ฉลามตระกูลนี้ยากแก่การค้นคว้าเป็นพิเศษ เพราะการทำความเข้าใจพวกมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เนื่องจากความแตกต่างระหว่างสายพันธุ์นั้นมีรายละเอียดที่ละเอียดอ่อนมาก

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนี้ จริง ๆ แล้วเรากำลังพยายามพิจารณาแง่มุมต่าง ๆ ของระบบทางเดินอาหาร รูปร่างของตับ และสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น ซึ่งมันจะทำให้คุณรู้สึกสิ้นหวังอย่างมากเวลาต้องพยายามแยะแยกฉลามแต่ละตัวให้ได้” ไวท์กล่าว

เขากล่าวว่าผู้เชี่ยวชาญฉลามกลุ่มนี้ในปัจจุบันล้วน “ประสานงานและพูดคุยกัน” เพราะการระบุสายพันธุ์ใหม่อาจเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง “อีกประเด็นคือ มันน่าเสียดายที่คุณได้รับเพียงตัวอย่างจากปลาที่ถูกเก็บรักษาไว้ และไม่มีรูปถ่ายใหม่ ๆ จริง ๆ เลย แต่สำหรับฉลามกบที่เราหาคำอธิบายได้ มันโชคดีมากที่เรามีรูปถ่ายใหม่ ๆ ของพวกมัน”

ฉลามกบหน้าตาน่ากลัวนี้ไม่ใช่การค้นพบเดียวที่ไวท์มีส่วนร่วมเมื่อไม่นานมานี้ ฉลามหน้าวัว (horn shark) ชนิดหนึ่งก็ถูกจับได้ในน่านน้ำลึกทางตะวันออกของออสเตรเลียได้อย่างน่าประหลาดใจ ระหว่างการสำรวจเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งปกติแล้วฉลามหน้าวัวจะชอบอาศัยอยู่ในน้ำตื้น หรือมักอยู่บนพื้นทะเลที่เต็มไปด้วยทุ่งเคลป์ แต่สายพันธุ์ใหม่ที่พบนี้อยู่ในความลึกราว 150 เมตร

ไวท์บอกว่า แต่นั่นไม่มีอะไรเทียบได้เลยกับฉลามกบที่อยู่ตรงหน้า เพราะมันไม่ใช่เพียงสายพันธุ์เดียวของฉลามชนิดนี้ที่ปรากฎตัวขึ้น

“เราพบสายพันธุ์ใหม่อีกชนิดหนึ่งซึ่งอยู่ในสกุลเดียวกัน และมันยังมีไข่ที่มีลักษณะเป็นกระเป๋าเหมือนกัน แต่ลักษณะของสันริ้วแตกต่างกัน และเราพบที่ทะเลนอกรัฐควีนส์แลนด์ ซึ่งพวกเรากำลังดำเนินการศึกษาอยู่ในตอนนี้” เขากล่าว

“ผมรู้สึกว่ามีอีกสายพันธุ์หนึ่งจากควีนส์แลนด์ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่ในสกุลเดียวกัน และผมคิดว่ามันมีอีกชนิดหนึ่งที่ทางตะวันตกของออสเตรเลีย ซึ่งมันอาจจะเป็นทั้งสายพันธุ์ใหม่หรือเป็นสายพันธุ์ที่แทบไม่มีใครรู้จักก็เป็นได้” ไวท์บอก

น่านน้ำรอบออสเตรเลียไม่ใช่เพียงแหล่งเดียวที่ค้นพบฉลามสายพันธุ์ใหม่ ๆ แต่อีกฟากหนึ่งของมหาสมุทรอินเดีย ไซมอน ไวก์มันน์ นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันที่เชี่ยวชาญด้านฉลาม จากห้องปฏิบัติการวิจัย Elasmobranch ในเมืองฮัมบูร์ก ยังช่วยค้นพบฉลามฟันเลื่อย (saw shark) 2 สายพันธุ์ใหม่นอกชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของแอฟริกา ซึ่งมันคือสิ่งมีชีวิตหน้าตาแปลกประหลาด ด้วยจมูกที่ยาวและมีฟันที่แหลมคมคล้ายกับเลื่อย

ฉลามฟันเลื่อยถูกค้นพบจากความช่วยเหลือของ รุธ ลีนีย์ เพื่อนร่วมงานจากศูนย์สัตว์น้ำแอนเดอร์สัน คาบอต (Anderson Cabot Centre for Ocean Life) ซึ่งได้ค้นคว้าปลาสายพันธุ์ใหม่ที่มีความเชื่อมโยงกับปลาฉนาก (sawfish) นอกชายฝั่งมาดากัสการ์ (ปลาฉนากเป็นปลากระเบนชนิดหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ห่าง ๆ กับฉลาม)

“เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งโทรมาหาเธอ เพราะว่าชาวประมงเก็บรักษา 2 จะงอยปากของสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นปลาฉนากไว้ได้” ไวก์มันน์ บอก “และเมื่อเธอเห็นภาพ เธอก็จำได้ทันทีว่า นี่ไม่ใช่ปลาฉนาก แต่มันคือฉลามฟันเลื่อย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะนานมาแล้วที่ไม่มีใครจับฉลามฟันเลื่อยแบบนี้ได้”

ฉลามฟันเลื่อยที่ได้มานั้นมีรายละเอียดน่าสนใจ แทนที่มันจะมีช่องเหงือกทั้ง 5 เหมือนฉลามส่วนใหญ่ แต่มันกลับมี 6 ช่อง ซึ่งสะท้อนถึงวิวัฒนาการของฉลามสายพันธุ์เก่าแก่กว่ามาก และเคยมีชีวิตอยู่เมื่อหลายล้านปีก่อน นอกจากนี้ พวกมันยังมีเส้นเอ็นเนื้อเล็ก ๆ ที่เรียกว่าหนามใกล้กับปลายจะงอยปาก มากกว่าที่เคยพบในฉลามฟันเลื่อยสายพันธุ์อื่น ๆ

เพื่อยืนยันลางสังหรณ์ของเขาว่ามันอาจเป็นสายพันธุ์ใหม่ ไวก์มันน์จึงเดินทางไปยังพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในกรุงลอนดอน ซึ่งเก็บรักษาฉลามฟันเลื่อยที่จับได้เมื่อกว่า 100 ปีก่อนไว้ และมันยังอยู่ในสภาพดีอย่างน่าทึ่ง

“ค่อนข้างชัดเจนว่าหนวดของมันอยู่ใกล้กับปากมาก และช่วยให้ระบุสายพันธุ์ของมันได้” ไวก์มันน์ กล่าว โดยอ้างถึงตัวอย่างที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม จากภาพถ่ายโดยเพื่อนร่วมงานของเลนนีย์ที่บันทึกได้จากตลาดปลาในมาดากัสการ์ มันดูเหมือนเป็นปลาสายพันธุ์ใหม่ และเมื่อนำมาศึกษาเพิ่มเติมจากตัวอย่างที่เก็บไว้ในคอลเล็กชันอื่น ๆ ในแอฟริกาใต้ มันก็ดูเหมือนจะสนับสนุนข้อสันนิษฐานนี้

จากนั้น แอนดรูว์ เทมเบิล นักวิจัยฉลามอีกรายจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคิงอับดุลลาห์แห่งซาอุดิอาระเบีย ก็ติดต่อเข้ามา

“เราพบฉลามฟันเลื่อยนอกชายฝั่งซานซิบาร์ของแทนซาเนีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พวกเขากำลังสำรวจการขึ้นฝั่งของชาวประมงท้องถิ่น ซึ่งมันแตกต่างจากสิ่งที่พวกเราค้นพบก่อนหน้านี้” ไวก์มันน์ กล่าว “ดังนั้น เราจึงบอกว่า โอเค... มันอาจจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ธรรมดาก็เป็นได้ หรือมันอาจจะเป็นสายพันธุ์ใหม่ชนิดที่สอง”

“มันพิเศษมากก็เพราะว่าการเห็นฉลามฟันเลื่อยไม่ใช่เรื่องธรรมดา และมันมีอยู่ไม่กี่สายพันธุ์” ไวก์มันน์ กล่าว และเสริมด้วยว่า “พวกมันดูเท่มาก”

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์เช่นไวก์มันน์ ไม่ใช่คนแรกที่สังเกตเห็นว่ามีอะไรบางอย่างแตกต่างกันออกไป แต่เป็นชาวประมงในมาดากัสการ์ที่จับพวกมันได้ต่างหาก

“มันเป็นเรื่องสำคัญมากที่เรามีชาวประมงท้องถิ่นที่มอบหลักฐานเหล่านี้ หากพวกเขาไม่เก็บจะงอยปากอันนี้ไว้หรือไม่นำตัวอย่างขึ้นมายังชายฝั่งที่ซานซิบาร์ในภายหลัง เราก็คงไม่สังเกตเห็น ผมคงไม่ตรวจสอบตัวอย่างอื่น ๆ ในพิพิธภัณฑ์หากไม่สังเกตเห็นว่ามีอะไรบางอย่างที่แตกต่างกันออกไป”

ฉลามฟันเลื่อนหลายตัวที่ถูกค้นพบมาจนถึงตอนนี้ ล้วนอาศัยอยู่ลึกลงไปใต้มหาสมุทรราว 300 เมตร แต่สายพันธุ์ที่ถูกจับได้นอกเกาะซานซิบาร์ กลับอยู่ในความลึกน้อยกว่า 30 เมตรจากผิวน้ำ

“เราคิดว่าพวกมันอาจว่ายมาสู่ระดับความลึกที่ตื้นกว่าในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับสิ่งมีชีวิตในทะเลหลายกลุ่ม” ไวก์มันน์ กล่าว

“ผมคิดว่าการเคลื่อนไหวแนวตั้งซึ่งเกิดขึ้นในมหาสมุทรยามค่ำคืนเท่านั้นเช่นนี้ เป็นการเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ที่สุดของสัตว์บนโลกนี้ นอกจากนี้มันยังมีฉลามจำนวนมากที่ทราบกันดีว่ามันเคลื่อนไหวเป็นแนวตั้ง ดังนั้น ผมคิดว่าในระหว่างวัน พวกมันอาจเคลื่อนไหวในระดับที่ลึกกว่านี้ แต่เราไม่รู้เลย เพราะว่าเรารู้จักพวกมันจากระดับความลึกนี้เท่านั้น และนั่นทำให้พวกมันเผชิญกับความเสี่ยงต่อการทำประมงเชิงพาณิชย์มากขึ้น” ไวก์มันน์ กล่าว

การค้นพบครั้งนี้ยังมีอะไรที่มากกว่าการเพิ่มสายพันธุ์ที่เรารู้จักลงไปในหนังสืออ้างอิง หรือเป็นนิทรรศการใหม่ในพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ไวก์มันน์ยกตัวอย่างปลาบลูสเกต (the Blue skate) ซึ่งเป็นปลากระเบนชนิดหนึ่งจากแอตแลนติกเหนือ และค่อนข้างเป็นปลาธรรมดา ๆ ในธรรมชาติ แต่ต่อมาพบว่าการประมงเชิงพาณิชย์ทำให้จำนวนของพวกมันลดลงจน “เกิดความล้มเหลวทางประชากรปลา” เขากล่าว

“และจากนั้นเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์บางคนสังเกตเห็นว่ามี 2 สายพันธุ์ที่รวมอยู่ภายใต้ชื่อนี้ ดังนั้น สถิติการประมงทั้งหมดที่คุณใช้เก็บข้อมูลจำนวนประชากรก็ไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป เพราะคุณไม่สามารถรู้ได้เลยว่ามันคือ หนึ่งสายพันธุ์หรือมีสายพันธุ์อื่น ๆ ด้วย และนั่นทำให้การวิจัยอนุกรมวิธานและการอธิบายลักษณะสายพันธุ์ใหม่มีความสำคัญอย่างมาก” เขากล่าว

ยังมีฉลามอีกจำนวนมากที่อาจรอการค้นพบจากทะเลลึก ส่วนฉลามตัวที่รอการจำแนกประเภทอยู่ก็อาจไม่ได้มีขนาดเล็กเหมือนกับฉลามกบเสมอไป โดยในปี 2021 นักวิทยาศาสตร์ค้นพบฉลามสายพันธุ์ใหม่ 3 สายพันธุ์ ที่สามารถเรืองแสงได้ในที่มืดและอยู่ในทะเลลึก ซึ่งหนึ่งในนั้นสามารถเติบโตและมีขนาดยาวถึง 1.8 เมตร

นอกจากนี้ เมื่อไม่เกิน 50 ปีที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์ยังค้นพบฉลามแปลก ๆ ที่เข้ามาติดกับสมอเรือของกองทัพเรือสหรัฐฯ นอกชายฝั่งฮาวาย เจ้าฉลามที่เป็นปัญหานี้มีความยาวเกือบ 4.5 เมตร และเป็นสายพันธุ์ที่ไม่เคยถูกพบเห็นมาก่อน ด้วยลักษณะของสัตว์ทะเลที่กินอาหารแบบกรอง (filter-feeder) ซึ่งว่ายน้ำด้วยขากรรไกรอ้าค้างตลอดเวลา

เลย์ตัน เทย์เลอร์ นักวิทยาศาสตร์ฉลาม ขนานนามสัตว์ตัวนี้ว่า “ฉลามเมกาเมาท์ (Megamouth Shark)” หรือแปลเป็นไทยว่า “ฉลามปากใหญ่มหึมา” ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบมา

เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครจะไปรู้ว่าที่ใต้ผิวน้ำของมหาสมุทรนั้น จะมีอะไรรอให้นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบอีก?

2024-09-30T01:07:30Z dg43tfdfdgfd