โลกร้อนทำ ปะการังจะตาย หญ้าทะเลจะหาย ซูชิแพงไม่อร่อยเหมือนเมื่อก่อน

โลกร้อนทำ ปะการังจะตาย หญ้าทะเลจะหาย ซูชิแพงไม่อร่อยเหมือนเมื่อก่อน

วันที่ 5 กันยายน ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาวะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ หรือภาวะจากโลกร้อน เป็นโลกเดือดนั้น ส่งผลกระทบไปทั่วทุกอนูของการใช้ชีวิตของมนุษย์โลก โดลล่าสุดนั้น พบว่า โลกเดือดนั้น ส่งผลต่อ ทะเลในประเทศญี่ปุ่นอย่างรุนแรง จนทำให้ปลาทะเล ที่เอามาทำอาหาร โดยเฉพาะปลา ที่นำมาทำ ทั้งซูชิ และซาซิมิ หายาก และมีราคาสูงขึ้นมาก

“ผมเขียนเรื่องนี้เอาไว้ใน carbon makets club มีเนื้อหาต่อไปนี้ มหาสมุทรดูดซับและกักเก็บความร้อนที่เพิ่มขึ้นจากก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์มากกว่าร้อยละ 90 แต่ทุกอย่างย่อมมีขีดจำกัด ทะเลและมหาสมุทรร้อนขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นปรากฏการณ์ทะเลเดือด (Ocean Warming) ส่งผลต่อสัตว์น้ำนานาชนิดที่พวกเราจับมากิน จนทำให้หลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าตระหนก

​​ทะเลญี่ปุ่นคือบริเวณที่ได้รับผลกระทบรุนแรง น้ำทะเลในชายฝั่งแปซิฟิกร้อนเพิ่มมากขึ้นในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา บางแห่งอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 2 องศา ดูแล้วเหมือนไม่มาก แต่ความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำในญี่ปุ่นขึ้นอยู่กับกระแสน้ำ เช่น Kuroshio เมื่ออุณหภูมิน้ำเปลี่ยน กระแสน้ำเปลี่ยนตาม ปลาเป็นสัตว์เลือดเย็น ไม่สามารถปรับอุณหภูมิด้วยตัวเองได้ สิ่งเดียวที่ปลาทำได้คือหาที่อยู่ใหม่ในช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสม ปลาหลายชนิดจึงเริ่มเคลื่อนย้ายจากแหล่งอาศัยเดิม ออกไปไกลจากฝั่งจนชาวประมงตามไปไม่ได้ ขณะที่ปลาที่หลงเหลืออยู่ก็หายากขึ้น มีขนาดเล็กลง วัตถุดิบราคาสูงขึ้นและผิดแผกไปจากที่เคยเป็นมานับร้อย ๆ ปี

​​​ปลายังว่ายน้ำหนีได้ แต่สัตว์อีกจำนวนมากทำเช่นนั้นไม่ได้ หอยหลายชนิดเริ่มหายไปจากพื้นที่ดั้งเดิม ปูยักษ์ราคาแพงมีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมอาหารในญี่ปุ่นรุนแรงเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ราคาอาหารหลายอย่างพุ่งทะยาน ซูชิจากปลาท้องถิ่นเริ่มอยู่ในระดับราคาเกินเอื้อมสำหรับคนส่วนใหญ่ เหลือเพียงปลาเลี้ยงไม่กี่ชนิดที่ยังพอไปต่อไหว ชาวประมงพื้นบ้าน ร้านอาหารเล็กๆ ในท้องถิ่น ได้รับผลกระทบและเริ่มทยอยหายไป เหลือเพียงเชนใหญ่ที่พึ่งพิงปลาจากการเพาะเลี้ยง

ผศ.ดร.ธรณ์ ยังระบุอีกว่า น้ำร้อนยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและปัจจัยสิ่งแวดล้อม แหล่งสาหร่ายทะเลขนาดใหญ่หลายแห่งเริ่มลดจำนวนลง ส่งผลให้สัตว์น้ำที่อาศัยลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว ความผิดปกติของน้ำทะเลยังส่งผลต่อเนื่องถึงความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหารและแพลงก์ตอนที่เป็นแหล่งอาหารของปลา ทำให้หลายอ่าวใหญ่ที่เคยเป็นแหล่งทำประมงมาเนิ่นนาน เริ่มไม่สามารถหล่อเลี้ยงผู้คนเช่นในอดีต

อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นยังส่งผลกระทบอีกหลายอย่าง ความร้อนของน้ำเพิ่มพลังให้พายุหมุน ไต้ฝุ่นรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ทำให้ช่วงเวลาการทำประมงลดน้อยลง เรือและอุปกรณ์เสียหาย ยังสร้างความสูญเสียให้กับการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง ทะเลเดือดยังทำให้อากาศร้อน อุณหภูมิเฉลี่ยของญี่ปุ่นสูงขึ้นต่อเนื่องแทบทุกปี แม้แต่วาซาบิที่ขาดไม่ได้เวลากินซูชิซาชิมิ ยังมีผลผลิตลดน้อยลงเพราะร้อนเกินไปจนปลูกไม่ค่อยได้

การขาดแคลนวัตถุดิบชั้นดีส่งผลกระทบไปทั่ว นอกจากในญี่ปุ่น ผลกระทบยังส่งต่อไปทั่วโลกที่ต้องการวัตถุดิบชั้นดีจากอุตสาหกรรมซีฟู้ดในญี่ปุ่น ของดีจึงราคาแพงสุดเอื้อม วัตนธรรมในการทำอาหารที่สืบต่อกันมาเนิ่นนานกำลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

ประเทศไทยเองก็เช่นกัน แม้เราอยู่ในทะเลเขตร้อน ไม่มีกระแสน้ำในมหาสมุทรเหมือนเช่นญี่ปุ่น แต่โลกร้อนทำให้ทะเลเราเดือดยิ่งกว่าเดิม อุณหภูมิน้ำทะเลในปี 2567 ร้อนสุดตั้งแต่มีการบันทึกกันมา บางแห่งอุณหภูมิสูงขึ้นเกิน 34 องศา ผลกระทบที่ชัดเจนเกิดกับระบบนิเวศสำคัญสุด 2 แหล่งในบ้านเรา

ในปี 2567 คือปีที่ปะการังฟอกขาวรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ถึงตอนนี้มีรายงานปะการังตายจากการฟอกขาวร้อยละ 30-40 น้ำร้อนและปัจจัยสภาพแวดล้อมหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงยังทำให้แหล่งหญ้าทะเลของเราลดลงจนกลายเป็นวิกฤต ไม่มีครั้งไหนที่เคยเกิดเหตุการณ์หญ้าทะเลในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลหายไปเกือบร้อยละ 50 ของพื้นที่เดิม ที่น่าเป็นห่วงคือวิกฤตยังไม่สิ้นสุด เริ่มมีรายงานหญ้าทะเลทรุดโทรมและลดน้อยลงในพื้นที่ๆ เหลืออยู่

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

เมื่อระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ และแหล่งที่อยู่อาศัยหาอาหารของสัตว์น้อยใหญ่ ตกอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมลงเกือบ 50% ผลกระทบย่อมสาหัส ชาวประมงพื้นบ้านในหลายพื้นที่ไม่เหลืออะไรให้จับ ร้านปูม้า/ปูเป็นตามแหล่งท่องเที่ยวเหลือเพียงถังน้ำที่ว่างเปล่า พ่อแม่ที่พาลูกไปเที่ยวทะเล อยากแวะกินซีฟู้ดริมหาดให้ฉ่ำใจ กลับพบว่าราคาอาหารทะยานพุ่งสูงจนคุณพ่อไม่มีเงินพอจ่าย อาหารทะเลท้องถิ่นสำหรับคนทั่วไปแทบจะเกินเอื้อมแล้ว

​​หรือแม้กระทั่งคนที่เงินไม่ใช่ปัญหา ยังพบว่าสัตว์น้ำสดๆ ตัวอ้วนๆ ที่เคยกินเมื่อ 10 ปีก่อน ตอนนี้ไม่รู้หายไปไหนหมด แม้มีเงินก็หากินไม่ได้ นั่นคือสภาพคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ที่เกิดในทะเลญี่ปุ่น คนยุคปัจจุบันกำลังไม่มีโอกาสลิ้มลองของจากธรรมชาติเหมือนเมื่อก่อน เราต้องพึ่งพาการเพาะเลี้ยงแบบอุตสาหกรรม เข้าไปอยู่ในห่วงโซ่ของการผลิตที่เน้นปริมาณ แต่ขาดความหลากหลายทางวัตถุดิบท้องถิ่นและรสชาติอย่างที่เคยเป็น

และอย่าลืมว่า การผลิตอาหารแบบอุตสาหกรรมคือหนึ่งในตัวการหลักของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะเราต้องการพลังงานมากมายในการเลี้ยงสัตว์น้ำ/อาหารสัตว์น้ำ/การขนส่ง เมื่อเทียบการเลี้ยงเองกับการให้ธรรมชาติช่วยเลี้ยง คาร์บอนฟุตพรินท์ที่เกิดขึ้นต่างกันหลายเท่า

​ที่น่าเศร้าคือเราเพิ่งอยู่ในจุดเริ่มต้นของการล่มสลายของทะเลและมหาสมุทร “บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำใหญ่ที่สุดในโลก” ไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนไหนบอกได้ว่าทะเลจะเดือดขึ้นอีกขนาดไหน แต่แทบทุกคนบอกได้ว่าน้ำจะร้อนกว่านี้ ยังไม่หยุดและไม่มีวี่แววว่าจะหยุดไปอีกหลายสิบหรือนับร้อยปี กระแสน้ำจะเปลี่ยน ปะการังจะตาย หญ้าทะเลจะหาย ซูชิจะแพงและไม่อร่อยเหมือนเมื่อก่อน เด็กๆ จะไม่มีโอกาสกินปูม้าสดๆ อ้วนๆ เหมือนที่คุณพ่อคุณแม่ของพวกเขาพวกเธอเคยกิน ​

​​โลกร้อนส่งผลกระทบไปทุกซอกมุม ไม่เว้นแม้แต่ความสุขในการกินของพวกเรา

ขอบคุณ เนื้อหาจาก carbon makets club  โดย ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : โลกร้อนทำ ปะการังจะตาย หญ้าทะเลจะหาย ซูชิแพงไม่อร่อยเหมือนเมื่อก่อน

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่

– Website : https://www.matichon.co.th

2024-09-05T05:18:53Z dg43tfdfdgfd